ระบบนิเวศเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายอย่างที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตและมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดอากาศที่เราหายใจ รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของอาหาร ยาและน้ำที่เราบริโภคด้วย
อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางชีวภาพได้เกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การใช้ประโยชน์มากเกินไปจากผืนแผ่นดินและสิ่งมีชีวิต ระบบการผลิตทางการเกษตรที่ใช้ทุนและแรงงานสูง มลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงจนถึงจุดที่ทำให้มนุษย์เราต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การขาดแคลนน้ำและอาหาร การเกิดโรคที่ถ่ายทอดจากสัตว์มาสู่มนุษย์ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งของความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไอเอสโอตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 331, Biodiversity ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนามาตรฐานซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ คณะกรรมการวิชาการดังกล่าวมีเลขานุการคือ AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส
คณะกรรมการวิชาการมีความตั้งใจที่จะใช้แนวทางเชิงองค์รวมโดยการนำเอาผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศมาช่วยกันพัฒนามาตรฐานที่ให้ความสำคัญในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ
แคโรไลน์ ลูห์ลเลอรี ผู้จัดการของคณะกรรมการวิชาการดังกล่าวระบุว่างานของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 331 จะช่วยกระตุ้นให้องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญในการนำเอาประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปไว้ในกลยุทธ์และตัดสินใจรวมทั้งการลงมือปฏิบัติ
มีข้อมูลคร่าวๆ ว่ามนุษย์ได้นำเอาแผ่นดินจำนวน3 ใน 4 ส่วนและน้ำจำนวน 2 ใน 3 ส่วนไปดัดแปลงและใช้งานในรูปแบบต่างๆ จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชากรโลกทั้งหมด
คณะกรรมการวิชาการฯ จึงปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงให้โลกของเรามีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการใช้แนวทางมาตรฐานสากลเพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
มาตรฐานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นจะรวมถึงคำศัพท์และนิยามที่ใช้กันทั่วโลก วิธีการสำหรับการประเมินผลกระทบ และกรอบการดำเนินงาน
สำหรับการกำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ การติดตามผล และการรายงานเครื่องมือ และอื่นๆ คณะกรรมการวิชาการ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาแนวทางในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพเฉพาะด้าน เช่น นิเวศวิศวกรรม การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางธรรมชาติ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
ผลลัพธ์ของคณะกรรมการชุดใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจดำเนินการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมทั้งภาคธุรกิจและองค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในด้านการปรับปรุงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโครงการใหม่ๆ ในอนาคต
การใช้มาตรฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้จะช่วยให้องค์กรมีส่วนร่วมในความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจำนวน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ13 เรื่องปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และข้อ 14 เรื่องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life below Water)
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2539.html
Related posts
Tags: Biodiversity, Climate Change, ISO, Standardization, Sustainability, Sustainability Management
Recent Comments