ในบรรดาพืชที่มีอยู่ในโลกนี้เกือบ 300,000 ชนิด มีพืชชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากมายแบบครอบจักรวาล พืชชนิดนั้นก็คือ “ไผ่” มนุษย์เราสามารถนำไผ่ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างนับไม่ถ้วน แล้วแต่คุณสมบัติของไผ่และความต้องการของมนุษย์เรา “ไผ่” เป็นพืชที่ใช้ได้อย่างเอนกประสงค์ สามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากใยไผ่ ยารักษาโรค เฟอร์นิเจอร์ และงานหัตถกรรม เป็นต้น
“ไผ่” เป็นพืชที่สะอาด สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้ และมีอยู่มากมายหลายประเภท ยิ่งไปกว่านั้น ไผ่ยังถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับแนวทางแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญไอเอสโอด้านไม้ไผ่เพิ่งเผยแพร่มาตรฐานสากลฉบับแรกของโลกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม และสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
ไผ่เป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีประโยชน์มากที่สุดในโลก ไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความแข็งแรง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายและสามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ แต่มนุษย์เรายังไม่ได้นำไผ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เท่าที่ศักยภาพของไผ่มีอยู่ทั้งหมด ย้อนกลับไปเมื่อราว 2,000 ปีก่อนของจีนโบราณในยุคราชวงศ์ฮั่น ไผ่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ทำกระดาษและรักษาโรค จวบจนถึงปัจจุบัน ไผ่ได้กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลายพันชิ้นที่เห็นอยู่รอบตัวเรา
ด้วยคุณสมบัติที่โดนเด่นทั้งทางกายภาพและทางกลไกของไผ่ ทำให้เราสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องนอน วัสดุปูพื้น การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว เครื่องดนตรี และอีกๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานและการดำรงชีพในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นพืชที่ปล่อยก๊าซออกซิเจนและดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็นพืชรักษ์โลก ดังนั้น “ไผ่” จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไผ่ จึงได้พัฒนาและเผยแพร่มาตรฐานสากลเกี่ยวกับไผ่เป็นฉบับแรก คือ ISO 21625: 2020, Vocabulary related to bamboo and bamboo products มาตรฐานฉบับนี้เน้นคำศัพท์และความหมายในอุตสาหกรรมไผ่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับความเข้าใจและความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้น
คาร์นิตา ยูนิอาร์ติ ผู้จัดการกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนามาตรฐาน ISO 21625 กล่าวว่า มาตรฐานนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และยังกล่าวต่อไปว่า “ไผ่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงการบรรเทาความยากจน การจัดหาพลังงานสะอาดและราคาที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ การผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย
คาร์นิตา ยูนิอาร์ติ กล่าวว่า มาตรฐานสากลสนับสนุนให้มีการใช้ได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากทั่วโลกสามารถนำไปประยุกต์ใช้เหมือนกัน และให้แนวทางที่ตกลงร่วมกันซึ่งส่งเสริมการค้าและการร่วมมือกัน โดย ISO 21625 เป็นเหมือนภาษาที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจร่วมกันได้ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนามาตรฐานในอนาคต
ผู้จัดการโครงการ เชี่ยนเหมี่ยว หลิว กล่าวว่า ไผ่มี 1,642 สายพันธุ์ ซึ่ง 1,521 สายพันธุ์เป็นไม้ไผ่ โดยในธรรมชาติมีการกระจายอยู่ในพื้นที่เขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก
มาตรฐานนี้และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับไผ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมตลาดไผ่ทั่วโลก และสร้างระบบมาตรฐานไผ่สากล ซึ่งจะสนับสนุนการใช้ทรัพยากรไผ่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลกระทบของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้
มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับไผ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะครอบคลุมถึงพื้นไม้ไผ่ ถ่านไม้ไผ่ และหวาย
ISO 21625 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 296, Bamboo and rattan โดยมีเลขานุการคือ SAC ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศจีนและเป็นสมาชิกไอเอสโอ
ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2547.html
Related posts
Tags: bamboo, clean energy, Climate Change, Energy, green energy, ISO, ISO21625, rattan, renewable, resource, SDGs, standard, Standardization
Recent Comments