การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของใครหลายคนที่สามารถเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไป หลายคนท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นรางวัลแก่ตัวเอง และเพื่อความทรงจำที่ดี แต่การท่องเที่ยวบางอย่างที่มีความเสี่ยง ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายและกลายเป็นภาพการจดจำที่น่าหวาดกลัว การลดความเสี่ยงจากการท่องเที่ยวลงจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่มาตรฐานไอเอสโอให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
มาตรฐาน ISO 21102, Adventure tourism – Leaders – Personnel competence ให้รายละเอียดของข้อกำหนดและข้อแนะนำสำหรับความรู้ความสามารถที่จำเป็นของผู้นำที่ปฏิบัติงานด้านการท่องเที่ยวแบบผจญภัย
มาตรฐานนี้ให้แนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย และทำให้ผู้นำการท่องเที่ยวมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน
อเล็กซานเดร การ์ริโด ผู้นำโครงการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนามาตรฐาน ISO 21102 ระบุว่าคุณสมบัติสำหรับความรู้ความสามารถของผู้นำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นอาจนำไปสู่การเกิดอันตรายได้ถ้าไม่มีความเข้าใจเป็นอย่างดี เนื่องจากกิจกรรมที่แตกต่างกันจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ก็มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เป็นคุณสมบัติร่วมกัน เช่น การบริหารความเสี่ยง การตอบสนองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พฤติกรรมและจริยธรรมแบบมืออาชีพ เป็นต้น
ลีโอนาร์โด แปร์ซี ผู้ประสานงานของกลุ่มงานระบุว่ามาตรฐาน ISO 21102 เป็นตัวแทนของแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันในระดับสากลที่ให้แนวทางความรู้ความสามารถ ตัวชี้วัดสำหรับระดับความรู้และความสามารถทางเทคนิควิชาการที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่คาดหวังและทำให้มั่นใจในตัวนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น มาตรฐานนี้จะช่วยปรับปรุงระดับการบริการเนื่องจากมีการกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานตระหนักและยอมรับในความรับผิดชอบของตนเอง และช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบผจญภัยโดยรวมด้วยการส่งเสริมให้มีการรับเอาแนวปฏิบัติที่ดีไปใช้งานกันทั่วไป
นอกจากมาตรฐาน ISO 21102 แล้ว ไอเอสโอยังได้พัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวแบบผจญภัยฉบับอื่นอีก 3 ฉบับ ได้แก่
- ISO 21101, Adventure tourism – Safety management systems – Requirements
- ISO 21103, Adventure tourism – Information for participants
- ISO 20611, Adventure tourism – Good practices for sustainability – Requirements and recommendations
มาตรฐานการท่องเที่ยวแบบผจญภัยดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ให้บริการการท่องเที่ยวแบบผจญภัยโดยไม่จำกัดขนาดและประเภทกิจการ และไอเอสโอยังได้จัดทำคู่มือจัดทำมาตรฐาน ISO 21101 สำหรับเอสเอ็มอีอีกด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการท่องเที่ยวแบบผจญภัยสามารถพัฒนาและนำระบบการจัดการด้านความปลอดภัยไปใช้งาน
มาตรฐานการท่องเที่ยวแบบผจญภัยได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 228, Tourism and related services โดยมีเลขานุการคือ UNE ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานของประเทศสเปน
ผู้สนใจมาตรฐานการท่องเที่ยวแบบผจญภัยสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2543.html
Related posts
Tags: adventure tourism, ISO, safety, Sustainability, Travel & Leisure
Recent Comments