บทความเรื่อง นวัตกรรม….หากไม่สร้างสรรค์ก็สูญเสีย ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีเพื่อที่จะยืนหยัดต่อสู้ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากขึ้นทุกวัน และในการดำเนินการเพื่อสร้างนวัตกรรม องค์กรสามารถใช้มาตรฐานเพื่อสร้างและจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบได้ ซึ่งไอเอสโอได้เห็นความสำคัญของการจัดการนวัตกรรมเป็นอย่างมาก จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม ISO/TC 279เพื่อพัฒนามาตรฐานด้านนวัตกรรมขึ้นมาแล้วหลายฉบับ รวมทั้ง ISO 56002 มาตรฐานระบบการบริการจัดการนวัตกรรมฉบับแรกของโลก
สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะกล่าวถึงแนวทางการบ่มเพาะความรู้ให้กับบุคลากรในองค์กรเพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างและจัดการนวัตกรรมอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกันได้ดังต่อไปนี้
การบริหารจัดการนวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับทุกบริษัทและทุกองค์กร ไม่ว่าจะมีฝ่ายนวัตกรรมหรือไม่ก็ตาม โดยแนวทางที่นำเสนอในมาตรฐาน ISO 56002 จะช่วยให้ทุกธุรกิจสามารถจัดการกับแนวคิดต่างๆ มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมเสมอเมื่อธุรกิจเกิดการหยุดชะงักงัน
นอกจากนี้ การบริหารจัดการนวัตกรรมยังช่วยปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรด้านนวัตกรรมด้วย ซึ่งโดยรวมแล้วจะช่วยประสานความคิดสร้างสรรค์และแรงจูงใจของพนักงานและปรับปรุงสมรรถนะต่อไป
หากว่าแนวคิดที่ยิ่งใหญ่มาจากความคิดเล็กๆ น้อยๆ การทำแนวคิดเหล่านั้นให้เกิดผลก็เป็นก้าวแรก ความรู้ก็เหมือนกับคน คือเป็นทรัพย์สินที่มีค่ายิ่งเนื่องจากทำให้องค์กรมีการตัดสินใจที่ดี และยังช่วยให้เกิดนวัตกรรม แต่เนื่องจากเราอยู่ในโลกแห่งข้อมูลขนาดใหญ่และข้อมูลที่ท่วมท้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดการข้อมูลเพื่อให้จุดประกายแนวคิดที่มาจากกระบวนการสร้างนวัตกรรม
บริษัทและองค์กรต่างๆ เริ่มตระหนักว่าความรู้เป็นทรัพย์สินขององค์กรที่จำเป็นซึ่งต้องมีการบริหารจัดการเช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่น ความรู้จำเป็นต้องมีการพัฒนา การรักษาไว้ การแบ่งปัน การปรับตัวและการประยุกต์ใช้
มาตรฐาน ISO 30401, Knowledge management systems – Requirements ช่วยให้องค์กรเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงการบริหารจัดการความรู้ที่มีอยู่ซึ่งส่งเสริมและสร้างคุณค่าผ่านการบริหารจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีประสิทธิผล
การปรับตัวขององค์กร
การบริหารข้อมูลขององค์กรอย่างมีประสิทธิผลไม่เพียงแต่จะมีส่วนในการสร้างนวัตกรรมด้วยการนำเอาแนวคิดที่น่าสนใจมาใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรมีความแข็งแกร่งในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เพราะนวัตกรรมทำให้เกิดการปรับตัว และการปรับตัวทำให้เกิดนวัตกรรม
ในขณะที่เราไม่อาจรู้ได้เลยได้ว่าธุรกิจใดจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ธุรกิจเองก็ต้องมีการปรับตัวให้ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องสร้างวงจรของการเกิดนวัตกรรม เพราะธุรกิจที่มั่นคงไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใด จะต้องมีพื้นฐานที่ดีในการสร้างนวัตกรรมซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคตต่อไป
แล้วองค์กรของเราจะมีความสามารถในการปรับตัวหรือสร้างความยืดหยุ่นได้อย่างไร
เจมส์ คราสค์ ผู้ประสานงานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 292, Security and Resilience กล่าวว่าองค์กรควรจะได้รับการสนับสนุนให้ปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่เรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะโรคระบาด COVID-19 เราได้ตระหนักแล้วถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น เราได้ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง และใช้ความสามารถในการผสมผสานศาสตร์ต่างๆ และเปลี่ยนภัยคุกคามให้กลายเป็นโอกาส ซึ่งหมายความว่าธุรกิจจะไม่เพียงแต่อยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังเติบโตก้าวหน้าขึ้นอีกด้วย
มาตรฐานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคณะกรรมการวิชาการดังกล่าว คือ ISO 22316 และ ISO 22301 ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความครั้งต่อไปซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/isofocus_142-3.html
Related posts
Tags: Innovation, Innovation Management System, ISO, ISO 56000, ISO 56002, Standardization
Recent Comments