บทความเรื่อง นวัตกรรม….หากไม่สร้างสรรค์ก็สูญเสีย ตอนที่ 1 และ นวัตกรรม….หากไม่สร้างสรรค์ก็สูญเสีย ตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมสำหรับธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ และมาตรฐานสากลที่ช่วยให้องค์กรมีระบบการบริการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ISO 56002, Innovation Management ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องมีการจัดการข้อมูลเพื่อจุดประกายแนวคิดที่มาจากกระบวนการสร้างนวัตกรรม ทั้งนี้ มาตรฐานที่จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงการบริหารจัดการความรู้ที่มีอยู่และสร้างคุณค่าผ่านการบริหารจัดการข้อมูลและองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิผลก็คือ ISO 30401, Knowledge management systems – Requirements
สำหรับบทความในตอนที่ 3 จะกล่าวถึงมาตรฐาน 2 ฉบับที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 292, Security and Resilience ได้แก่ ISO 22316 และ ISO 22301 รวมทั้งความเชื่อมโยงของมาตรฐานดังกล่าวกับเรื่องของนวัตกรรม ดังต่อไปนี้
การนำมาตรฐาน ISO 22316, Security and Resilience Organizational resilience – Principles and Attributes ไปใช้ในองค์กรเป็นวิธีการที่ดีที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้เกิดการปรับตัวหรือมีความยืดหยุ่น มาตรฐานนี้เป็นกรอบการทำงานที่ช่วยให้องค์กรสร้างความสามารถในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงและทำให้องค์กรกลายเป็นองค์กรใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อน
ทั้งนี้ องค์กรสามารถทำได้ด้วยการเตรียมหลักการในการสร้างวัฒนธรรมเรื่องการปรับตัวหรือความยืดหยุ่น การสร้างการใช้ความรู้ขององค์กรอย่างมีประสิทธิผล การกระตุ้นให้ผู้นำสร้างพลังและทำงานอย่างมีประสิทธิผล และทำให้องค์กรสามารถส่งมอบพันธสัญญาในภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
เจมส์ คราสค์ ผู้ประสานงานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 292, Security and Resilience กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับการนำมาตรฐาน ISO 22316 ไปใช้นั้นคุ้มค่ากับความพยายามเป็นอย่างยิ่ง โดยวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ที่มีการแบ่งปันและทักษะที่หลากหลายเป็นเพียงคุณลักษณะอย่างหนึ่งขององค์กรที่มีความสามารถในการปรับตัวหรือมีความยืดหยุ่น ซึ่งทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะทนทานต่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งการหยุดชะงักทางธุรกิจ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการหยุดชะงักของธุรกิจ
ความสามารถในการมีปฏิกิริยาและตอบสนองต่อการหยุดชะงักทางธุรกิจอย่างไม่คาดฝันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพถือว่าเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการเตรียมพร้อมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นความต่อเนื่องทางธุรกิจหรือแผนฟื้นฟูจากความเสียหาย สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายๆ องค์กร แต่ก็จำเป็นต้องรักษาไว้และทำให้ใหม่อยู่เสมอเพื่อให้สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องได้
มาตรฐาน ISO 22301, Business Continuity Management เป็นมาตรฐานสากลฉบับแรกสำหรับระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ มีการเผยแพร่เมื่อปี 2555 (ค.ศ.2012) และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ได้ช่วยให้องค์กรมีการนำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจรวมทั้งระบบและกระบวนการไปใช้และรักษาไว้อย่างมีประสิทธิผล
มาตรฐาน ISO 22301 ได้รับการปรับปรุงเมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) เพื่อให้เหมาะกับการเรียนรู้ของการใช้และรักษาเนื้อหาให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล ช่วยให้องค์กรตอบสนองและฟื้นฟูจากการหยุดชะงักได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมายความว่าหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงและลดผลกระทบที่มีต่อสมรรถนะธุรกิจได้ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทที่มีหลายไซต์งานหรือหลายฝ่ายก็สามารถยึดถือเป็นแนวทางเดียวกันได้ทั่วทั้งองค์กร
คราสต์กล่าวว่าการมีแผนงานระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่เข้มแข็งและแสดงให้เห็นได้ในหน้างานจะช่วยเรื่องการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลกำไรในระยะยาว แม้ว่าองค์กรจะไม่เคยใช้แผนนั้นเลยก็ตาม
ความสามารถในการยืนยันลูกค้า ซัพพลายเออร์ หน่วยงานที่ออกกฎระเบียบและองค์กรที่คล้ายคลึงกันซึ่งองค์กรได้เตรียมการไว้กรณีเกิดความสูญเสีย จะทำให้องค์กรสามารถยกระดับความเชื่อมั่น และผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งหมดได้รับประโยชน์
สมรรถนะทางธุรกิจที่ได้รับการปรับปรุง การควบคุมดูแลที่ไร้อุปสรรคของผู้ควบคุมกฎ และการดึงดูดต่อนักลงทุนเป็นเพียงผลประโยชน์บางอย่างของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจเท่านั้น นอกจากนี้ องค์กรที่นำไปใช้ จะมีความเข้าใจในธุรกิจของตนเองเป็นอย่างดีหลังจากได้ทำการวิเคราะห์ประเด็นวิกฤตทั้งหมดและพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเปราะบาง
ถึงเวลาต้องสร้างนวัตกรรม
การหยุดชะงักงันของธุรกิจอาจมาจากคู่แข่งในอุตสาหกรรม เช่น ก่อนหน้านี้ เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าอะไรจะมาดิสรัพท์ธุรกิจโรงแรมที่ทำกันมานานนับร้อยปีจนกระทั่งมีธุรกิจโฮมแชร์ริ่งเกิดขึ้นในชื่อของแอร์บีแอนด์บี หรือมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในโลกธุรกิจซึ่งเราแทบจะไม่ทันสังเกตเลยว่ารถแท็กซี่ ร้านอาหาร และธนาคารจะถูกดิสรัพท์ด้วยบริการเรียกรถและอาหารรวมทั้งบริการจ่ายเงินผ่านแอปในคราวเดียวกัน เป็นต้น
เดอ กาซาโนเว่ กล่าวว่า แค่แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่บริษัทต้องมองไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงเพื่อดำรงรักษาธุรกิจเอาไว้ ซึ่งก็หมายถึงการสร้างนวัตกรรมนั่นเอง
แอร์บัสก็เช่นกัน บริษัทได้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เช่น เครื่องยนต์ที่เกี่ยวข้องกับเฮลิคอปเตอร์ การบินด้วยไฟฟ้า และการเดินทางและการขนส่งในเมืองด้วยระบบใหม่ มาตรฐานจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำเอาแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดผลและสนับสนุนการปฏิวัติให้ประสบความสำเร็จด้วยการช่วยให้ผสมผสานแนวคิดและนำแนวคิดไปใช้ประโยชน์สูงสุดในทางโครงสร้าง
การใช้มาตรฐานสากลเปรียบเสมือนเครื่องหมายประทับตราอนุมัติที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและหุ้นส่วนการค้าทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบแนวปฏิบัติสากล มาตรฐานทำให้มีวิธีการ ระบบและกระบวนการที่สามารถช่วยให้ธุรกิจประหยัดเวลาและทรัพยากร มีเวลาว่างจากการทำงานไปพักผ่อนและทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องทำหากต้องการความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน ตลอดจนสามารถอยู่รอดในโลกธุรกิจที่ผันผวนอยู่เสมอ
การรักษาสถานะเดิมทางธุรกิจไว้เป็นเรื่องของอดีต แต่อนาคตจะเป็นของธุรกิจที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้เท่านั้น
ที่มา: https://www.iso.org/news/isofocus_142-3.html
Related posts
Tags: Innovation, Innovation Management System, ISO, ISO 56000, ISO 56002, Standardization
Recent Comments