บทความเรื่อง บล็อกเชน” เทคโนโลยีแห่งความเชื่อถือ ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความสำคัญ คุณลักษณะและประโยชน์ของบล็อกเชนว่าเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีบทบาทในธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้นในการอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมด้วยการบันทึกและทวนสอบด้วยความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งไอเอสโอเห็นความสำคัญของการมีมาตรฐานบล็อกเชน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 307, Blockchain and distributed ledger technologies เพื่อให้มาตรฐานบล็อกเชนเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของโลก โดยเน้นในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย โปร่งใส และเชื่อถือได้
สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะได้กล่าวถึงการใช้งานบล็อกเชนในหลายอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ และศักยภาพในอนาคตดังต่อไปนี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเปิดเผยว่าบล็อกเชนได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับยุคนี้ที่เกิดโรคระบาดอย่าง COVID-19 ซึ่งผู้คนจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการต่อสู้กับการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา โดยใช้บล็อกเชนในการระบุความสมบูรณ์ถูกต้องในการออกใบรับรองระบบดิจิทัลอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการใช้เอกสารอื่นๆ ในการเข้าถึงข้อมูล เช่นศูนย์บริการของรัฐบาลหรือการเยี่ยมชมสำนักงาน การเข้าถึงบริการทางไกลของรัฐบาล เป็นต้น
เป็นเรื่องปกติ เมื่อมีการรับเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงมุมมองในเรื่องความเสี่ยงของเทคโนโลยีได้ แต่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในระดับโลกให้ได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยกรอบแนวคิดเชิงนวัตกรรมเข้ามาช่วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาระดับโลกทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องตัดสินใจให้เร็วขึ้นกว่าเดิม และเมื่อทุกภาคส่วนกำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบของปัญหาดังกล่าว ไอเอสโอจึงได้แสวงหาวิธีคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนาและสร้างความเห็นพ้องต้องกันในมาตรฐานสากลได้ทันท่วงที เพื่อช่วยให้มีผู้คนนำบล็อกเชนไปใช้งานให้มากขึ้นในอนาคต
ความรับผิดชอบด้านข้อมูล
เนื่องจากการใช้ข้อมูลในบล็อกเชนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล สหภาพยุโรปจึงได้แนะนำแนวทางการใช้บล็อกเชนที่ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองยุโรป (GDPR) อันแสดงถึงความรับผิดชอบในการใช้ข้อมูลบล็อกเชน โดยมีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ ในการทำสัญญาหรือธุรกรรมต่าง ๆ ต้องทำให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบการใช้ข้อมูลได้ มีความโปร่งใส มีการตั้งค่าความเป็นตัวซึ่งช่วยให้ผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลมีการทวนสอบว่าพวกเขามีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลนั้นหรือไม่ เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลของศูนย์วิจัยร่วมคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission Joint Research Centre)
บล็อกเชนกับการค้าพลังงาน
สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนภาคส่วนพลังงาน คือการก้าวไปสู่การค้าในรูปแบบดิจิทัล การกระจายอำนาจ และการลดคาร์บอนเพื่อพลังงานสะอาด ทำให้มีการสำรวจรูปแบบตลาดไฟฟ้าที่มีการทำธุรกรรมแบบใหม่ซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมในองค์กรสามารถใช้เครื่องมืออัตโนมัติในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนพลังงาน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องเครือข่ายการจ่ายไฟฟ้าอยู่
สำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะในอินเดีย ไอร์แลนด์ และสเปน คาดว่าจะมีการใช้งานเทคโนโลยีที่สะดวกสบายอย่างบล็อกเชนและนำมาซึ่งความเชื่อถือและความโปร่งใสด้านพลังงาน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน บริษัทค้าพลังงานและชุมชนผู้บริโภคที่มีส่วนร่วมในการออกแบบและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
บล็อกเชนกับสถาบันการศึกษา
ประกาศนียบัตรทางการศึกษาและใบปริญญาต่างๆ สามารถใช้บล็อกเชนให้เป็นประโยชน์ได้ เช่นในสถาบันการศึกษาของประเทศสิงคโปร์และอินเดียกำลังใช้บล็อกเชนเพื่อส่งมอบประกาศนียบัตรและใบปริญญาในระบบดิจิทัลให้กับนักเรียน นักศึกษาและบัณฑิต และสามารถกำจัดการปลอมแปลงประกาศนียบัตรและปริญญาได้
การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในระบบการจัดการบันทึกของนักเรียนนักศึกษาจะมีการจัดเตรียมการจัดเก็บที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีการรับรองเอกสารประกาศนียบัตรทางการศึกษาหรือปริญญา ซึ่งป้องกันการปลอมแปลงเอกสารและยังอำนวยความสะดวกโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป
บล็อกเชนกับการปลอมแปลงยา
การปลอมแปลงยากำลังเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นในระดับโลกเนื่องจากโครงสร้างซัพพลายเชนที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แนวทางการแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลกลโกงในอุตสาหกรรมยาของประเทศอินเดียคือ การใช้บล็อกเชนเพื่อปรับปรุงการติดตามและตรวจสอบสินค้ายารวมทั้งการปกป้องแบรนด์ที่ดีขึ้นเพื่อทำการผลิตอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศจีนยังมีการติดตามตรวจสอบพวกยาที่มีแฟรนไชส์และอุปกรณ์ยาที่ใช้ระบบการบริการจัดการซัพพลายเชนแบบเรียลไทม์ด้วย
บล็อกเชนยังเกี่ยวข้องกับภาคส่วนใดอีกบ้าง แล้วมาตรฐานบล็อกเชนจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจและองค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างไร โปรดติดตามในครั้งต่อไปซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/isofocus_142-5.html
Related posts
Tags: blockchain, Cryptocurrency, Distributed Ledger, DLT, ISO, Standardization
ความเห็นล่าสุด