ปัจจุบัน ปัญหามลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหาสำหรับประชากรโลก สำหรับในเมืองใหญ่ ปัญหามลพิษมักจะเกิดขึ้นภายนอกบ้าน แต่สำหรับเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลชนบทในหลายประเทศ กลับมีมลพิษที่เกิดขึ้นภายในบ้านของตนเอง ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
จากการศึกษาวิจัยของ Harvard T.H. Chan School of Public Health (เดิมคือวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด) พบว่าผู้ที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนามากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อากาศสะอาด งานวิจัยนี้ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าแนวทางขององค์การอนามัยโลก
ในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก อากาศภายในบ้านของผู้คนอาจเป็นมลพิษมากกว่าอากาศนอกบ้านเสียอีก เนื่องจากคุณภาพอากาศภายในบ้านเกิดจากวิธีการปรุงอาหารของผู้คนที่ใช้เตาปรุงอาหารแบบเปิดที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Clean Cooking Alliance ประเทศเคนยาและพันธมิตรจากทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในครัวเรือนในประเทศเคนยาและประเทศอื่น ๆ จึงได้มีโครงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในเรื่องการใช้เตาปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะและไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือควันไฟ
ประเทศยูกันดาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้เตาปรุงอาหารแบบเปิดที่พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยลดการเปิดโล่งของเตาที่ทำให้เกิดควันที่เป็นอันตราย โดยที่ชาวยูกันดามากกว่า 95 % ยังคงพึ่งพิงเชื้อเพลิงอย่างถ่านหรือไม้ในการปรุงอาหารซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ จากข้อมูลของ Institute for Health Metrics and Evaluation พบว่าทุกปี มีเด็กมากกว่า 3,000 คน เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการติดเชื้อทางเดินอาหารเฉียบพลันซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงเหล่านั้น
สำนักงานมาตรฐานแห่งชาติของประเทศยูกันดา (Uganda National Bureau of Standards) ได้นำข้อมูลและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนามาตรฐานและมีส่วนในการพัฒนานโยบายภาครัฐเพื่อสนับสนุนมาตรฐาน เช่น การกำหนดสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการเตาปรุงอาหารซึ่งต้องมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์หรือระดับสำหรับการปล่อยฝุ่นละอองตามที่วัดได้ในห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรอง
โดยริชาร์ด อีบง ผู้รับผิดชอบงานด้านนวัตกรรมและการประกันคุณภาพได้กล่าวถึงแรงจูงใจที่ทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวว่า รัฐบาลยูกันดาได้นำเอามาตรฐานเตาปรุงอาหารและอุปกรณ์ปรุงอาหารที่สะอาดมาใช้เพราะเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างดี จึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้มีเตาปรุงอาหารที่แข็งแรงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซมลพิษ
ปัจจุบัน คณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 285, Clean cookstoves and clean cooking solutions ได้เผยแพร่มาตรฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเตาปรุงอาหารจำนวน 4 ฉบับ ดังนี้
- มาตรฐาน ISO 19867-1: 2018, Clean cookstoves and clean cooking solutions — Harmonized laboratory test protocols — Part 1: Standard test sequence for emissions and performance, safety and durability) เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการทดสอบด้านลำดับการทดสอบการปล่อยก๊าซ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความทนทาน
- รายงานทางวิชาการ ISO/TR 19867-3, ISO/TR 19867-3:2018 Clean cookstoves and clean cooking solutions — Harmonized laboratory test protocols — Part 3: Voluntary performance targets for cookstoves based on laboratory testing เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีเป้าหมายประสิทธิภาพโดยสมัครใจสำหรับเตาปรุงอาหาร
- มาตรฐาน ISO 19869, Clean cookstoves and clean cooking solutions — Field testing methods for cookstoves) เกี่ยวข้องกับวิธีการทดสอบภาคสนาม
- รายงานทางวิชาการ ISO/TR 21276: 2018 Clean cookstoves and clean cooking solutions — Vocabulary) เกี่ยวข้องกับคำศัพท์พื้นฐาน
ปัจจุบัน ไอเอสโอยังคงมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานเตาปรุงอาหารโดยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาครัฐ ผู้ให้การบริจาค ผู้ผลิต และผู้บริโภค เพื่อให้มีแนวทางเชิงนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศและลดการเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจ อันจะส่งผลต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นต่อไป
Related posts
Tags: Cookstove, COVID-19, Fume, ISO, pollution, safety, Smoke, Standardization
Recent Comments