ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2490 (ค.ศ.1947) และมีสมาชิกเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และสมาชิกจากประเทศออสเตรียคือ ASI ถือว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกที่เก่าแก่ของไอเอสโอประเทศหนึ่ง ซึ่งได้มีส่วนร่วมในงานพัฒนามาตรฐานมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังมีส่วนร่วมในการมาตรฐานสากลและมาตรฐานยุโรปด้วย
ASI เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศออสเตรีย ได้รับการก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2463 (ค.ศ.1920) และเนื่องในโอกาสที่ ASI ครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้ง จึงได้จัดนิทรรศการ 100 ปีมาตรฐานออสเตรีย และนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชม
ดร.มากาเร็ต ชรัมเบิก รัฐมนตรีของกระทรวงกิจการดิจิทัลและเศรษฐกิจ ได้เปิดเผยเรื่องราวของ “สามเหลี่ยมเพนโรส” ในพิธีเปิดงานนิทรรศการ 100 ปีของ ASI เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ที่กรุงเวียนนา โดยในการเฉลิมฉลองมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองสภาพสังคมและบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากผู้คนไม่สามารถเดินทางไปยัง ASI กรุงเวียนนา ก็สามารถรับชมทางวิดีโอที่มีเรื่องราวน่าสนใจที่ผ่านมาของ ASI ได้
ในงานนิทรรศการดังกล่าว มีสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง เรียกว่า “สามเหลี่ยมเพนโรส” ได้รับการออกแบบโดยสถาบันอาร์ส อิเล็กทรอนิกา (Ars Electronica) ซึ่งเป็นสถาบันทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ ของประเทศออสเตรีย
สามเหลี่ยมเพนโรสเป็นสถาปัตยกรรมทรงสามเหลี่ยมที่ค้นพบมุมมองด้านการมาตรฐานผ่านปิรามิดรูปแบบเปิด แต่ละมุมของสามเหลี่ยมเป็นขาซึ่งทำจากวัสดุที่แตกต่างกันและให้ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่าคือมาตรฐานระดับประเทศ มาตรฐานระดับสากล และมาตรฐานของยุโรป และนำเสนอให้ผู้ชมค้นพบประวัติและความเป็นมาของการมาตรฐานทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต
ในประเทศออสเตรีย ชุมชนมาตรฐานทั้งหมดได้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 100 ปีของ ASI แต่ในปีนี้ มีบางสิ่งที่มีความหมายมากกว่าทุกปี กล่าวคือ ยังมีความจริงที่ว่าโลกปัจจุบัน ได้เกิดประเด็นปัญหาหรือความท้าทายต่าง ๆ มากขึ้นซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น (เช่น โรคระบาด COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก) ซึ่งได้ทำให้ “มาตรฐาน” มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ การยอมรับว่าการมีชุมชนมาตรฐานอยู่ทั่วโลกด้วยกันก็ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนมาตรฐานทั่วโลกที่มีความเข้มแข็งด้วย
เมื่อมองย้อนกลับไป 100 ปีผ่านเรื่องราวมาตรฐานของออสเตรีย สิ่งที่ชัดเจนมากคือ ความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนในพลังของมาตรฐานซึ่งทำให้องค์กรอย่าง ASI ผ่านเวลาที่ยากลำบากมากกว่าที่เราส่วนใหญ่เคยพบเจอในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และเนื่องจากมาตรฐานได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับประเด็นต่าง ๆ มากมายที่เราเผชิญหน้าอยู่เช่นทุกวันนี้ ASI จึงยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานและมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบัน ASI ได้เปิดให้สมาชิกเข้าถึงมาตรฐานของออสเตรีย และมาตรฐานยุโรปทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน เป็นจำนวนมากกว่า 23,000 ฉบับรวมทั้งมาตรฐานสากลจากทั่วโลกด้วย
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2546.html
2. https://www.iso.org/member/1529.html
Related posts
Tags: Ars Electronica, ASI, Austria, ISO, Standardization
Recent Comments