เมื่อพูดถึงหมายเลข 13 เลขนี้เป็นเลขที่ใครหลายคนไม่ค่อยชื่นชอบเท่าใดนัก แต่สำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อ 13 ขององค์การสหประชาชาติ เป็นเป้าหมายที่ท้าทายและทั่วโลกกำลังร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายให้ได้ภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายนั้นก็คือ การร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) นั่นเอง
เป้าหมายดังกล่าวเน้นด้านนโยบายและกลไกสนับสนุนในการรับมือและการปรับตัวให้สามารถพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีประด็นหลัก 3 ประเด็น ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในนโยบายระดับประเทศ และการสร้างความตระหนักในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของสังคมในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของภูมิอากาศโลกมีความร้อนเพิ่มขึ้นและได้ส่งผลกระทบต่อความจำเป็นพื้นฐานหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของน้ำและอาหารหรือความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดน้อยลง พลังงาน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คลื่นความร้อนหรือภัยแล้งที่มากขึ้น เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development – UNCED หรือ การประชุม Earth Summit) ที่กรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535 (ค.ศ.1992) ซึ่งข้อตกลงจากการประชุมในครั้งนั้นรู้จักกันในชื่อ “อนุสัญญาริโอ” (Rio Convention) รวมถึงการรับเอากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ไปใช้ทั่วโลก ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2537
การประชุมดังกล่าว กำหนดกรอบสำหรับการดำเนินการโดยมุ่งเป้าไปที่การรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ในชั้นบรรยากาศเพื่อหลีกเลี่ยง “การรบกวนจากมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากในการปรับทิศทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก
นอกจากนี้ ยังมีพิธีสารเกียวโตซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายโดยมีผลผูกพันตามกฎหมาย
พิธีสารเกียวโตได้รับการลงนามรับรองที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2540 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548
ส่วนความตกลงมาร์ราเกชหรือรายละเอียดข้อบังคับในการปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโตได้รับการลงนามรับรองในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 7 (COP7) ที่เมืองมาร์ราเกช ประเทศโมรอกโก เมื่อปี 2544 (ค.ศ.2001) ระยะผูกพันช่วงแรกเริ่มขึ้นในปี 2551(ค.ศ.2008) และสิ้นสุดลงในปี 2555 (ค.ศ.2012) โดยในส่วนข้อตกลงแก้ไขพิธีสารเกียวโตได้รับการลงนามรับรองที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 (ค.ศ.2015) การประชุมภาคีครั้งที่ 21 หรือที่รู้จักกันในชื่อ COP21 ได้จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และมีการรับรองข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นข้อตกลงสากลซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้จำกัดอุณหภูมิให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
จากเอกสารผลการประชุมริโอ กล่าวถึงอนาคตของโลกซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นความท้าทายระดับโลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไข อีกทั้งยังส่งผลกระทบระยะยาวสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทุกประเทศ
จากเอกสารดังกล่าว ประเทศสมาชิกยังแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากข้อวิตกกังวลเหล่านี้ ประเทศสมาชิกจึงได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือและมีส่วนร่วมกันอย่างกว้างขวางในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลและเหมาะสม
สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกที่ได้ลงนามในความร่วมมือ COP 21 โดยได้แสดงเจตจำนงในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศลงร้อยละ 20-25 จากปี ค.ศ. 2009 ภายใน ปีค.ศ. 2030 ดังนั้น จึงเป็นภารกิจที่มีความหมายและมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
จากบทบาทและเป้าหมายของประเทศไทยในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ธุรกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิต” การออกฉลากคาร์บอนของประเทศต่าง ๆ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เพื่อให้ทั่วโลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งในบทความในครั้งต่อไป จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโครงการ CDM โปรดติดตามค่ะ
ที่มา: https://sdgs.un.org/topics/climate-change
Related posts
Tags: Carbon Label, Climate Change, Earth Summit, GHGs, ISO, Kyoto protocol, Rio Convention, SDG, SDG 13, Standardization, UNCED, UNFCCC
Recent Comments