บทความเรื่อง โลกร่วมใจต่อสู้เพื่อเป้าหมาย SDG 13 ตอนที่ 1ได้กล่าวถึงความเป็นมาของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อ 13 (Climate Action) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมแสดงเจตจำนงในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศลงให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ภารกิจนี้มีความหมายและมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งโดยกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโตที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศอุตสาหกรรมสามารถบรรลุพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับบทความในตอนที่ 2 จะได้กล่าวถึงกิจกรรมภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(CDM) ดังต่อไปนี้
โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ เนื่องจากกลไกการพัฒนาที่สะอาด เป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้ประเทศที่มีพันธกรณีกับประเทศที่ไม่มีพันธกรณีได้ร่วมมือกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG (Greenhouse Gas) เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรหรือคนในพื้นที่จากการขายวัสดุเหลือใช้หรือผลิตผลทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน สร้างรายได้จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประชาชนมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นโดยการนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นต้น
โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด สามารถได้รับเครดิตการลดการปล่อยก๊าซซึ่งสามารถขอรับการรับรองจากหน่วยรับรองบุคคลที่สาม (Third party) ได้ แต่ละหน่วยเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน โดยเกี่ยวข้องกับโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซ เช่น โครงการไฟฟ้าในชนบทโดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ โครงการติดตั้งหม้อไอน้ำที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น เป็นต้น
โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2549 (ค.ศ.2006) และได้รับการรับรองไปแล้วกว่า 1,650 โครงการโดยรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วมากกว่า 2.9 พันล้านตันคาร์บอนไดออกซ์ และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกของเราบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ โครงการซีดีเอ็มทั่วไป โครงการซีดีเอ็มขนาดเล็กและการควบรวมโครงการ และโครงการซีดีเอ็มแบบแผนงาน ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันตามลักษณะโครงการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วไป ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านพลังงาน หรือผู้ดำเนินโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า สามารถขอรับการตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ (Validation) หรือการตรวจสอบยืนยันหรือขอการรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก (Verification/Certification) สำหรับโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ได้จากหน่วยปฏิบัติการในประเทศไทยที่ได้รับมอบหมาย (DOE) ซึ่งได้รับการรับรองระบบงานจากคณะกรรมการบริหารกลไกพัฒนาที่สะอาด (Executive Board of the Clean Development Mechanism: CDM EB), UNFCCC
นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับการตรวจสอบความใช้ได้/การทวนสอบการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับองค์กรและระดับโครงการของผู้ประกอบกิจการ ตามมาตรฐานสากล ISO 14064-1 และ ISO 14064-2 (Greenhouse gases) ด้วย ปัจจุบัน สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอเป็นหน่วยปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมาย หรือ DOE แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
ขณะนี้ โลกของเราสามารถรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในให้ลดลง 1.1 องศาเซลเซียสได้แล้ว และหากทั่วโลกยังคงร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้เพื่อเป้าหมาย SDG 13 ต่อไป ความหวังที่โลกของเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ก็จะเป็นจริงได้ในที่สุด
2. http://www.tgo.or.th/2015/thai/content.php?s1=12&s2=43
3. https://unfccc.int/climate-action/climate-neutral-now
Related posts
Tags: Carbon Label, Climate Change, Earth Summit, GHGs, ISO, Kyoto protocol, Rio Convention, SDG, SDG 13, Standardization, UNCED, UNFCCC
Recent Comments