มาตรฐานไอเอสโอที่ทั่วโลกรู้จักกันดีและนิยมใช้กันทั่วโลกตั้งแต่ปี 2530 (ค.ศ.1987) คือมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งได้รับการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ และ 23 ปีต่อมา ไอเอสโอได้ประกาศมาตรฐาน ISO 26000: 2010 เพื่อเป็นข้อแนะนำสำหรับหน่วยงานนำไปปฏิบัติโดยสมัครใจ มาตรฐานนี้ไม่ใช่มาตรฐานที่จะนำไปใช้เพื่อขอรับการรับรองเช่นเดียวกับมาตรฐาน ISO 9001 หรือ ISO 14001 แต่มาตรฐาน ISO 26000 ก็เป็นมาตรฐานอีกฉบับหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก และองค์กรต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญและนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางเช่นกัน
ทำไมคนทั่วโลกจึงยอมรับว่า ISO 26000 เป็นมาตรฐานที่มีประโยชน์และทรงคุณค่าไม่แพ้มาตรฐานสากลฉบับอื่นอย่าง ISO 9001 และ ISO 14001
ปี 2553 (ค.ศ.2010) เป็นปีที่ไอเอสโอได้ประกาศมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ในเดือนพฤศจิกายน 2553 และทั่วโลกได้รับไปใช้อย่างกว้างขวาง และนับถึงปี 2563 มาตรฐาน ISO 26000 ได้ถือกำเนิดมาครบรอบ 10 ปีแล้ว
การพัฒนามาตรฐาน ISO 26000 เป็นโครงการด้านการมาตรฐานที่มีขอบข่ายกว้างขวางอันแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและเป็นส่วนที่เสริมให้ระบบการจัดการและความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้น
การเดินทางของมาตรฐาน ISO 26000 เริ่มจากการพิจารณามาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ของผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอ ซึ่งขยายขอบข่ายงานของไอเอสโอให้กว้างขวางขึ้นจากมาตรฐานระบบคุณภาพ มาตรฐานทางเทคนิควิชาการ และมาตรฐานอุตสาหกรรมซึ่งผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานได้รวมเอาแนวคิดการพัฒนามาตรฐานสากลใหม่ ๆ เข้าไปเพื่อที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกภาคส่วนให้ได้
ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวจึงได้นำองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 500 คนทั่วโลก จาก 80 ประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒามาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งจากองค์กรสากลอย่างองค์กรนายจ้างสากล และกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ด้วย
เมื่อมาตรฐาน ISO 26000 ได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 นั้น เป็นครั้งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันในการสร้างการมาตรฐานใหม่นี้พร้อมด้วยแนวทางที่รัดกุมในแนวทางที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและการยอมรับในความรับผิดชอบต่อสังคม
เอเดรียน เฮนริกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนที่ทำงานกับองค์กรข้ามชาติและองค์กรสากล เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนามาตรฐาน ISO 26000 ผ่านทาง BSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหราชอาณาจักร เขาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหนึ่งในหัวใจของความสำเร็จในมาตรฐานไอเอโอด้านความรับผิดชอบต่อสังคมก็คือ การยอมรับขององค์กรหลัก ๆ ที่ทำงานในเรื่องเดียวกันนั่นเอง และเพื่อที่จะทำให้เกิดความสม่ำเสมอและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไอเอสโอจึงได้เข้าร่วมในข้อตกลงพิเศษกับองค์กรขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้แก่ องค์กรอิสระระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจ คือ GRI และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ดังนั้น ISO 26000 จึงเป็นมาตรฐานด้านความยั่งยืนฉบับหนึ่งที่ครอบคลุมประเด็นด้านความรับผิดชอบทางสังคมไว้มากที่สุด
แนวทางที่จำเป็นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
ISO 26000 ไม่ใช้ข้อกำหนด แต่เป็นแนวทางให้นำไปใช้ซึ่งไม่สามารถให้การรับรองได้ แต่บริษัทและองค์กรต่างๆ สามารถใช้เป็นกรอบการทำงานเพื่อค้นหาและปรับปรุงแนวทางการใช้มาตรฐานเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้ เรื่องนี้เป็นแกนหลักของมาตรฐาน ISO 26000 ที่มีอิทธิพลต่อวิธีการวิธีการปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกจ้าง วิธีการทำธุรกิจของบริษัทหรือองค์กร รวมทั้งวิธีที่ธุรกิจทำการประเมินตนเองและจำกัดผลกระทบต่อกิจกรรมด้วย ในขณะที่สังคมได้สร้างความก้าวหน้าในหลายด้านในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน แนวทางของมาตรฐาน ISO 26000 ยังคงเกี่ยวข้องกับความท้าทายของทุกโลกยุคปัจจุบันนี้ด้วย
ธุรกิจและองค์กรในยุค COVID-19 เช่นนี้ถูกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมบีบบังคับให้ต้องประเมินวิธีการดำเนินธุรกิจของตนเองโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้ธุรกิจสามารถสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวได้มากขึ้น และมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยแนวทางของมาตรฐาน ISO 26000 เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติการดำเนินงานอย่างเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน
มาตรฐาน ISO 26000 ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจขององค์กรหลายแห่ง และบางแห่ง ได้นำไปปรับใช้โดยเพิ่มข้อกำหนดอื่นที่จำเป็นเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรด้วย
มาตรฐานนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานที่มีความจำเป็นมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตและองค์กรทั่วโลกยังคงให้ความนิยมและนำไปปรับใช้ในองค์กรอย่างสมัครใจ โดยที่มาตรฐานนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นมาตรฐานที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG ขององค์การสหประชาชาติในหลายข้อด้วยกัน เช่น ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การขจัดความหิวโหย การขจัดความยากจน การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการจัดการน้ำและการสุขาภิบาลที่ดี เป็นต้น
มาตรฐานเหล่านั้นได้ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความสอดคล้องอย่างสม่ำเสมอกับกฎหมายและกฎระเบียบทางสังคม ตลอดจนความสามารถในการผสมผสานเข้ากับแนวปฏิบัติต่างๆ ขององค์กร ซึ่งไอเอสโอได้ทำการพัฒนามาตรฐาน ISO 26000 โดยใช้แนวทางมาตรฐานด้านความยั่งยืนของไอเอสโอ (ISO Guide 82, Guidelines for addressing sustainability in standards) ในการพัฒนาอย่างเป็นระบบครบทั้งกระบวนการพัฒนามาตรฐานด้วย
นอกจากนี้ ไอเอสโอยังได้พัฒนาแนวทางเอกสารที่ช่วยให้องค์กรสามารถนำแนวทางในมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ในระบบการจัดการ เพื่ออำนวยความสะดวกการใช้งานให้กับธุรกิจและองค์กรทั่วไปอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง จึงกล่าวได้ว่ามาตรฐาน ISO 26000 เป็นมาตรฐานที่เป็นที่รักของบุคลากรและองค์กรที่นำมาตรฐานนี้ไปใช้ หรือแม้กระทั่งไอเอสโอ ซึ่งไอเอสโอเองก็มีความเชื่อมั่นในคุณค่าและอรรถประโยชน์ของมาตรฐานนี้ และหวังว่าจะช่วยจรรโลงสังคมโลกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้เกิดบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2599.html
2. https://www.iso.org/news/ref2204.html
3. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/PUB100401.pdf
Related posts
Tags: BSI, GRI, ISO, ISO 26000, OECD, social responsibility, Standardization
Recent Comments