เนื่องในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ไอเอสโอจึงได้นำเสนอเรื่องราวของมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการต้านคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาที่บ่อนทำลายทุกเรื่องในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของประเทศ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน การจ้างงาน หรือสิ่งแวดล้อม
วิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในองค์กรต่าง ๆ คือ การมีระบบที่เตรียมพร้อมสำหรับธรรมภิบาลที่ดีซึ่งไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานเกี่ยวกับการต้านคอร์รัปชันขึ้นมาเพื่อให้องค์กรทุกประเภทและทุกขนาดนำไปใช้ และได้รับประโยชน์จากระบบโดยลดความเสี่ยงของการคอร์รัปชันลงด้วยการแสดงความรับผิดชอบ (accountability and responsibility) ขององค์กร
ตัวอย่างมาตรฐานที่ไอเอสโอได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว ได้แก่ ISO 37000, Guidance for the governance of organizations มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจัดเตรียมกรอบการทำงานในการชี้นำองค์กรที่ทำการปกครองและแสดงวิธีที่จะตอบสนองต่อความรับผิดชอบ และช่วยให้สามารถปรับปรุงสมรรถนะในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง และส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
นอกจากนี้ องค์ประกอบหลักอีกอย่างหนึ่งของธรรมาภิบาลก็คือการมีวิธีการที่ปลอดภัยซึ่งบุคคลจะสามารถรายงานการกระทำสิ่งผิดปกติได้อย่างไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังที่ปรากฏอยู่ในแนวทางของมาตรฐานไอเอสโอ ISO 37002, Whistleblowing management systems – Guidelines
มาตรฐานดังกล่าวให้แนวทางการนำระบบการจัดการเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสไปใช้ในการจัดการ การประเมิน การรักษาและการปรับปรุงระบบการจัดการอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงในสาขาใดและยังสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดรวมทั้งเอสเอ็มอีและองค์กรที่ทำงานในระดับระหว่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ ไอเอสโอยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
ในขณะเดียวกัน องค์กรที่แสดงว่าองค์กรของตนเองมีความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อกำหนดที่มีการบังคับ รหัสอุตสาหกรรม หรือมาตรฐานแบบสมัครใจ จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นมาตรวัดที่จะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดคอร์รัปชันได้
สำหรับมาตรฐาน ISO 37301, Compliance management systems – Requirements with guidance for use ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเช่นกัน เน้นทุกสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องรู้เพื่อที่จะทำให้เกิดความสอดคล้องกับการต้านคอร์รัปชัน
มาตรฐานใหม่เหล่านั้นจะมีส่วนเสริมมาตรฐานเดิมที่มีอยู่คือ ISO 37001, Anti-bribery management systems – Requirements with guidance for use ซึ่งช่วยให้องค์กรต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันในการปฏิบัติงานของตนเองและตลอดทั้งซัพพลายเชน
แนวทางต่อไปสำหรับมาตรฐานนี้ ยังมีอยู่ในรูปแบบคู่มือเชิงปฏิบัติอีกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า ISO 37001:2016 – Anti-bribery management systems – A practical guide ซึ่งกำหนดจะตีพิมพ์ภายในต้นปี 2564 (ค.ศ.2021)
โฮเวิร์ด ชอว์ ประธานคณะกรรมการวิชาการที่พัฒนามาตรฐานเหล่านั้นกล่าวว่าการจัดพิมพ์มาตรฐาน ISO 37001 เมื่อปี 2559 (ค.ศ.2016) ได้เป็นก้าวสำคัญในการจัดเตรียมแนวทางที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันในการจัดการและการลดการทุจริตคอร์รัปชันลง
มาตรฐานที่กล่าวมาข้างต้นได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการด้านธรรมาภิบาล ISO/TC 309, Governance of organizations โดยมีเลขานุการคือ BSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหราชอาณาจักร
ผู้สนใจ สามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2602.html
2. https://www.facebook.com/NACCThailandOfficialFanpage/videos/1281412738887089
Related posts
Tags: Anti-bribery, International Anti-Corruption Day, ISO, ISO 37001, Standardization, Whistleblowing management systems
Recent Comments