กลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดการกับโรคระบาดคือการทดสอบเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมาตรฐานไอเอสโอที่ใช้ในการจัดการกับความเสี่ยงทางชีวภาพก็ได้รับการพัฒนาแล้วและทันกับการใช้งานพอดีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 (ค.ศ.2019) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเกิดโรคระบาดโคโรนาไวรัส
มาตรฐานดังกล่าวคือ ISO 35001, Biorisk management for laboratories and other related organizations ซึ่งใช้ในการทดสอบ จัดเก็บ ขนส่ง และการกำจัดวัสดุทางชีวภาพที่เป็นอันตราย
จากผลกระทบของโรคระบาด COVID-19 ทำให้จำเป็นต้องมีมาตรฐานสากล ISO 35001 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเสี่ยงทางชีวภาพในองค์กรซึ่งจำเป็นต้องนำไปใช้ในการจัดการวัสดุทางชีวภาพ
มาตรฐานนี้เป็นแนวทางที่ผู้ใช้งานมาตรฐานระบบการจัดการไอเอสโอมีความคุ้นเคยเนื่องจากไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐาน ISO 35001 ขึ้นมาจากองค์ประกอบที่นำมาจากมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001 แต่ว่าเน้นในมุมมองที่โดดเด่นในเรื่องการจัดการความเสี่ยงทางชีวภาพ
มาตรฐาน ISO 35001 ทำให้มีความสามารถในการระบุ การประเมิน การควบคุม และการติดตามความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวัสดุทางชีวภาพที่เป็นอันตราย ซึ่งพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 212, Clinical laboratory testing and in vitro diagnostic test systems
มาตรฐาน ISO 35001 นี้มีบางอย่างที่เหมือนกับมาตรฐานสากลฉบับอื่น คือ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเฉพาะด้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและมีความเห็นพ้องต้องกันในมาตรฐานนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริงในทางปฏิบัติ พวกเขาได้นำเอาความรู้และมุมมองจากแวดวงอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนามาตรฐานสากลจนกระทั่งสามารถพัฒนามาตรฐานที่ใช้ในการจัดการกับความเสี่ยงทางชีวภาพได้เป็นฉบับแรกของโลก
แพทริเซีย โอลิงเงอร์ ผู้ประสานงานกลุ่มงานมาตรฐาน ISO 35001 ได้อธิบายว่าสำหรับมาตรฐาน ISO 35001 มีความจำเป็นที่ต้องเน้นเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นมาตรฐานฉบับแรกที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยให้ห้องปฏิบัติการทดสอบแและช่วยในสถานการณ์ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับวัสดุทางชีวภาพที่เป็นอันตรายซึ่งสามารถปกป้องตนเอง และสภาพแวดล้อมให้พ้นจากอันตรายได้
แพทริเซียชี้ให้เห็นว่ามาตรฐาน ISO 35001 มีพื้นฐานอยู่บนเรื่องของการประเมินสมรรถนะและไม่ใช่เอกสารทางวิชาการ แต่เป็นมาตรฐานที่จัดเตรียมกรอบการทำงานหรือโครงสร้างสำหรับการจัดการโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพสำหรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางชีวภาพและความปลอดภัยที่มีทั้งความซับซ้อนและความเรียบง่าย ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องความเสี่ยงและการสื่อสารภายในองค์กรด้วย
มาตรฐานนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้เป็นเครื่องมือระบุช่องว่าง หรือแม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมเป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบทุกแห่งที่มีการจัดการเชิงรุกกับเชื้อโรคที่เป็นอันตราย รวมทั้ง SARS-CoV2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาด COVID-19
การใช้งาน ISO 35001 ประการหนึ่งที่มีความเหมาะสมมากที่สุดคือการใช้งานในห้องปฏิบัติการทดสอบและโรงพยาบาลซึ่งต้องการจัดการกับวัสดุอันตรายที่มีความหลากหลายและกำลังมองหาวิธีการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในการป้องกันอันตรายที่ทำให้ลูกจ้าง ลูกค้า และผู้ป่วยมีความมั่นใจ แต่เนื่องจากโรค COVID-19 มีการแพร่กระจายที่รวดเร็ว ปัจจัยหลักในการควบคุมโรคระบาดที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็คือ การทดสอบและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องตอบสนองให้รวดเร็ว และยังมีบทบาทอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องดำเนินการด้วย
นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการทดสอบแล้ว การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการทดสอบในสถานที่อื่น ๆ ก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะอย่างสนามบิน
มาตรฐานสากล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐาน ISO 35001 มีความจำเป็นต้องมีเพื่อทำให้ผู้คนได้รับความปลอดภัย ทำให้ผลการทดสอบเป็นที่เชื่อถือได้ และสร้างความมั่นใจในกระบวนการทดสอบ
อย่างไรก็ตาม วิกฤตความจำเป็นสำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบสากลได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับห้องปฏิบัติการทดสอบที่อยู่ในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร ทั้งนี้ เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนเมื่อต้องจัดการกับสิ่งที่ทำให้เกิดโรคทางชีววิทยา
แพทริเซีย ตั้งข้อสังเกตว่าในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศที่ไม่มีนโยบายระดับชาติในด้านกฎระเบียบห้องปฏิบัติการ ทำให้มาตรฐานนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ใช้งาน
องค์กรมาตรฐานระดับชาติบางแห่งจึงมีทางเลือกในการนำมาตรฐาน ISO 35001 ไปใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาด COVID-19 เช่น BSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหราชอาณาจักร ได้นำเอามาตรฐาน ISO 35001 ไปใช้อย่างกว้างขวางซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาความเสี่ยงทางชีวภาพได้ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิผล
ISO 35001 สามารถช่วยลดความเสี่ยงของ COVID-19 ได้ทันทีในปัจจุบัน แต่แพทริเซียก็ชี้ให้เห็นด้วยว่าประโยชน์ของมาตรฐานนี้จะคงอยู่ต่อไปอีกยาวนานเพราะในอนาคต การนำมาตรฐาน ISO 35001 ไปใช้จะช่วยให้องค์กรมีการจัดเตรียมความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่มาจากห้องปฏิบัติการทดสอบรวมทั้งโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไปอีกด้วย
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2594.html
Related posts
Tags: Biorisk, Clinical Laboratories, COVID-19, ISO, ISO 35001, ISO 45001, laboratories, SARS-CoV2, Standardization, testing
Recent Comments