ตัวเลขผู้สูญเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคระบาด COVID-19 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการบินซึ่งจำเป็นต้องหยุดหรือลดเที่ยวบินให้บริการในหลายเส้นทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
เซฟเวอริน โดรโกล ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินมายาวนานกว่า 35 ปีมองความท้าทายนี้แล้วอธิบายว่าอุตสาหกรรมการบินสามารถหาโอกาสเพื่อฟื้นฟูธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนได้ แต่จะทำได้อย่างไร เรามาติดตามกันดังต่อไปนี้
ธุรกิจอุตสาหกรรมการบินเคยประสบกับปัญหาที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนกับสายการบินมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อวินาศกรรมตึกแฝดเวิลด์เทรด 9/11 การเกิดโรคระบาดซาร์สระหว่างปี 2545 – 2547 (ค.ศ.2002 – 2004) หรือการปะทุของภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ในประเทศไอซ์แลนด์เมื่อปี 2553 (ค.ศ.2010) เป็นต้น แต่ไม่มีครั้งไหนที่ส่งผลกระทบรุนแรงเท่ากับการเกิดโรคระบาด COVID-19 ในครั้งนี้
ขณะที่ไวรัสกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกและประเทศต่างๆ จำเป็นต้องล็อกดาวน์ ทำให้สายการบินต่างๆ ต้องปิดให้บริการไปโดยปริยาย จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) คาดว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ไปราว 84 พันล้านเหรียญเมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) หรือมากกว่า 3 เท่าของการสูญเสียที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา
หุ้นของสายการบินกลายเป็นตัวแดง บางบริษัทถึงกับล้มละลาย เซฟเวอริน โดรโกล ผู้แทนชาวฝรั่งเศสในคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 20, Aircraft and space vehicles และประธานที่ปรึกษาด้านอวกาศของบริษัท เอสดีคอนซัลติ้ง ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในภาคการบินทางอากาศ ได้ให้สัมภาษณ์วารสารไอเอสโอโฟกัสถึงแนวทางการแก้ปัญหาและการจัดการกับความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในช่วงที่เกิดโรคระบาด COVID-19 เช่นนี้ รวมทั้งวิธีการค้นหาโอกาสท่ามกลางภาวะที่ธุรกิจเกิดการหยุดชะงัก
สำหรับคำถามที่ว่าในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศโดยทั่วไป มีการจัดการกับความท้าทายของโรคระบาด COVID-19 อย่างไร เซฟเวอริน โดรโกล ตอบว่าก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่าปฏิกิริยาและการตอบสนองต่อเรื่องนี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นสายการบินชั้นนำอย่างแอร์บัสหรือโบอิ้งหรือไม่ บริษัทนี้มีความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์หรือผู้ให้บริการบางแห่งโดยเฉพาะอย่างสนามบินหรือการควบคุมการจราจรการบินพลเรือน ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งหมด วิธีการจัดการจึงขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม สถานการณ์ของการบินพลเรือนเป็นตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการบินทหารซึ่งได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากการปิดประเทศหรือชายแดนหรือการเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
การขนส่งสินค้าทางอากาศก็เช่นกัน เที่ยวบินยังคงต้องทำงานต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าในคลังยังคงสามารถกระจายไปทั่วโลกได้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจการให้บริการทางอากาศแม้ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินของผู้โดยสารจะลดน้อยลง
เช่นเดียวกัน ปฏิกิริยาทางอุตสาหกรรมก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อ COVID-19 เฉพาะประเทศและภูมิภาค เนื่องจากไวรัสได้กระจายไปทั่วโลก ภาระสำหรับภาคส่วนการบินจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศใกล้เคียงและประเทศอื่นเนื่องจากประเทศต่าง ๆ ก็ถือเป็นแนวปฏิบัติว่าต้องปิดชายแดนเพื่อป้องกันโรคระบาดนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป อุตสาหกรรมการบินพลเรือนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศในยุโรปเองเพื่อก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคเมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับอีกสองปีถัดไป
ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความท้าทายซึ่งมีมาตรการกักตัวในอุตสาหกรรมการบินคืออะไร กลยุทธ์ใดจึงจะได้ผล และจะมีใครสามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นและก้าวไปข้างหน้าได้ไหม มาตรการกักตัวถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการฟื้นตัวในเรื่องการเดินอากาศ ผลสำรวจของ IATA ระบุว่าประชาชนในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักรประมาณ 75 – 85% จะไม่เดินทางถ้าที่ใดที่หนึ่งของจุดหมายปลายทางมีการกักตัว มีการประมาณการสนามบินในยุโรปจะรองรับผู้โดยสารเมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) น้อยลงถึง 28% กว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ บริษัทที่จัดการสนามบินและสายการบินจึงจำเป็นต้องหาเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เช่นในยุโรป คาดว่าบริษัทที่จัดการสนามบินมีการสูญเสียเงินไปถึง 15.4 พันล้านสหรัฐระหว่างที่เกิดโรคระบาด ดังนั้น รัฐบาลที่มองหาโอกาสในการเปิดประเทศอีกครั้งจำเป็นต้องมีทางเลือกเช่น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มองเรื่องความเสี่ยงไว้ด้วย
คำตอบของมาตรการการกักตัวในอุตสาหกรรมการบิน คือ กลยุทธ์ที่รวมเอามาตรการสากลด้านสุขภาพสำหรับการเดินทางด้วยเครื่องบินโดยมีแผนการจัดการกับ COVID-19 ระดับชาติที่มีประสิทธิผล
จำเป็นมากที่รัฐบาลต้องร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนเพื่อรีสตาร์ทการเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมการบินให้ถึงกันและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีของสากล มุมมองเชิงบวกที่ดีที่สุดคือมีการคาดการณ์กันว่าภาคส่วนการบินจะฟื้นตัวได้ 100% ในราวกลางปี 2566 (ค.ศ.2023) บางกระแสก็เชื่อว่าไม่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนกลางปี 2568 (ค.ศ.2025)
ในระหว่างนี้ สายการบินบางแห่งอาจจะล้มหายตายจากไป ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้สายการบินบางแห่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินและทางกฎระเบียบจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยุโรปหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์และให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งในระยะสั้น แม้ว่าเงินกู้จะเป็นความช่วยเหลือที่สามารถผ่อนภาระอันหนักหน่วงให้ผ่อนคลายลงบ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในบริการใหม่ เซฟเวอริน โดรโกล จะมีคำตอบที่ดีให้กับอุตสาหกรรมการบินในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง โปรดติดตามได้ในบทความตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2585.html
Related posts
Tags: Aircraft and space vehicles, Aircraft Industry, COVID-19, IATA, ISO, Standardization
Recent Comments