ถึงแม้ว่าถั่วจะมีคุณค่าสูงแต่หลายคนอาจไม่ชอบเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ใช้เวลานานในการปรุงสุก ถั่วบางชนิดทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ หรือมองว่าถั่วเป็นอาหารคนจน เป็นต้น แต่อันที่จริงแล้ว ถั่วเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าที่มองเห็นจากภายนอกอย่างผิวเผิน องค์การอนามัยโลกได้กล่าวถึง “ถั่ว” ว่ามีประโยชน์หลายประการ เช่น มีอายุการเก็บรักษา (shelf life) ที่ยาวนาน ปราศจากสารกลูเตนที่ทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ ช่วยปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน อุดมไปด้วยไฟเบอร์ คาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อนและสารอาหารต่างๆ และมีปริมาณโซเดียมต่ำ เป็นต้น
ถั่วหรือ Pulse เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่มีไขมันต่ำ สามารถสะสมพลังงานในรูปของคาร์โบไฮเดรต ปัจจุบัน ถั่วกลับมาเป็นอาหารยอดนิยมของคนทั่วโลกซึ่งไม่เพียงแต่จะเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น แต่การบริโภคถั่วยังมีส่วนที่ให้โลกของเรามีความยั่งยืนมากขึ้นด้วย เนื่องจากการปลูกถั่วนั้นใช้น้ำไม่มากนักและมีส่วนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนลดความจำเป็นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปุ๋ย
ถั่วเลนทิล ถั่วลูกไก่ ถั่วแดง ถั่วเนย เป็นถั่วที่คนทั่วโลกค่อนข้างคุ้นเคย แต่อันที่จริงแล้ว มีถั่วอีกนับร้อยชนิดอยู่ทั่วโลก แค่ถั่วลูกไก่อย่างเดียวก็มีถึง 77 ประเภท และเนื่องในวันสากลของถั่วพัลส์ (World Pulses Day) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ไอเอสโอจึงได้แนะนำมาตรฐานเกี่ยวกับถั่วประเภทต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน และทำให้มั่นใจในความปลอดภัยนับตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการบริโภค ตัวอย่างมาตรฐานบางฉบับของไอเอสโอมีดังต่อไปนี้
- ISO 6322, Storage of cereals and pulses เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของมาตรฐานการจัดเก็บอาหารที่ให้แนวทางทางวิชาการเพื่อแก้ไขและทำให้การจัดเก็บปลอดภัย ประกอบด้วย 3 ฉบับ ฉบับแรกให้คำแนะนำทั่วไปสำหรับการจัดเก็บธัญพืช ฉบับที่ 2ให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติในการจัดเก็บธัญพืช และฉบับที่ 3 เป็นวิธีการควบคุมการจู่โจมของศัตรูพืช
- ISO 605, Pulses – Determination of impurities, size, foreign odours, insects, and species and variety – Test methods ให้รายละเอียดวิธีการทดสอบและกระบวนการตรวจสอบว่าถั่วปราศจากการปนเปื้อนและเหมาะแก่การบริโภค
- ISO 24557, Pulses – Determination of moisture content – Air-oven method เป็นแนวทางเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในระดับระหว่างประเทศสำหรับวิธีการตรวจสอบระดับความชื้นของถั่วที่ใช้ในวิธีการมาตรฐานอุตสาหกรรม
- ISO 22000, Food safety management systems เป็นข้อกำหนดสำหรับองค์กรที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารและเป็นมาตรฐานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดฉบับหนึ่งในบรรดามาตรฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่ทั้งหมดสำหรับความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหาร มาตรฐานฉบับนี้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องรู้เพื่อจัดการความเสี่ยงในการผลิตอาหารในทุกด้าน
ไอเอสโอมีมาตรฐานสาขาอาหารมากกว่า 1,600 ฉบับ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2626.html
Related posts
Tags: Food Safety Management Systems, ISO, ISO 22000, ISO 24557, ISO 605, ISO 6322, Standardization, World Pulses Day
ความเห็นล่าสุด