วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันสากลเพื่อสตรีและเด็กหญิงในงานวิทยาศาสตร์ (International Day of Women Girls in Science)
สิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาด้วยความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงแต่ช่วยให้สตรีและเด็กมีความเท่าเทียมกันในประเด็นต่างๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่มากขึ้นด้วย
เนื่องในโอกาสวันสากลเพื่อสตรีและเด็กหญิงในงานวิทยาศาสตร์ประจำปี 2564 ไอเอสโอมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกในโครงการใหม่ตามแผนปฏิบัติการมิติหญิงชาย ซึ่งสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งไอเอสโอได้จัดเก็บข้อมูลตัวแทนหญิงชายที่ปฏิบัติงานด้านการมาตรฐาน ทั้งจากสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ผู้นำ ซีอีโอ คณะกรรมการวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญและยังได้รวบรวมกรณีศึกษาจากมาตรฐานระดับประเทศและมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการสนับสนุนความเท่าเทียมกันของชายและหญิง อันเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกับปัญหาและความท้าทายในเรื่องนี้ด้วย
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายขององค์กรสหประชาชาติที่มีชื่อว่า Gender Focal Point Network ได้รวมเอาสมาชิกไอเอสโอจากทั่วโลกให้มามีส่วนร่วมในการพูดคุย อภิปรายและแบ่งปันข้อมูลรวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมวัฒนธรรมของการให้ความสำคัญแก่หญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน และทำให้มาตรฐานต่างๆ ตอบสนองต่อความต้องการได้ทั้งหญิงและชาย
เลขาธิการไอเอสโอได้กล่าวว่าความเท่าเทียมกันของหญิงและชายส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมาตรฐานก็มีบทบาทพื้นฐานในเรื่องนี้ ไอเอสโอได้มีพันธสัญญาในการทำให้มั่นใจว่ามาตรฐานสามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหญิงและชาย ซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการพัฒนามาตรฐานไอเอสโอนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่ใช้มาตรฐาน และที่ไอเอสโอ ทุกคนมีความภาคภูมิใจในบทบาทของผู้หญิงที่ได้ทำหน้าที่ในระดับบริหาร ในบทบาทในระดับอาวุโสที่สำนักงานเลขาธิการกลาง รวมทั้งในคณะกรรมการวิชาการต่างๆ ซึ่งอยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์ เช่น จุลชีววิทยา และเอไอ เป็นต้น
ส่วนผู้จัดการคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 272, Forensic sciences กล่าวว่ามีผู้หญิงเข้ามาทำงานด้านวิทยาศาสตร์ มากขึ้นและก็ยังมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้อีก สำหรับคณะกรรมการด้านนิติวิทยาศาสตร์เต็มไปด้วยผู้หญิงที่มีความชาญฉลาด เชี่ยวชาญและสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้งานมีความก้าวหน้าในระดับสากลได้ ไคลี ชูมัคเกอร์ กล่าวว่าตนเองมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชุนที่มีคนเก่งๆ หลากหลายและทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และยังมองหาโอกาสที่จะทำงานเคียงข้างไปกับคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะก้าวเข้ามาร่วมงานของมืออาชีพด้านการมาตรฐาน
การสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีและเด็กหญิงยังเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันทางเพศซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคม และยังสร้างความเข้มแข็งและความเท่าเทียมกันในสังคม ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ISO 26000, Guidance on social responsibility
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ การเกิดโรคระบาด COVID-19 อย่างต่อเนื่องก็ยิ่งทำให้บทบาทวิชาชีพของนักวิจัยหญิงที่ทำงานต่อสู้กับภัยโรคระบาดในเวทีต่างๆ มีความชัดเจนขึ้น และทำให้มองเห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายในระบบงานวิทยาศาสตร์ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายหรือโครงการและกลไกต่างๆ เสียใหม่เพื่อสนับสนุนผู้หญิงและเด็กให้มากขึ้น
ดังนั้น การเฉลิมฉลองวันสากลเพื่อสตรีและเด็กหญิงในปี 2564 นี้ซึ่งเป็นปีที่ 6 ของการจัดงานที่สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 จึงให้ความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์หญิงที่อยู่แนวหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาด COVID-19 (Women Scientists at the forefront of the fight against COVID-19) เช่นเดียวกัน และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดมาจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมพูดคุยและอภิปราย โดยได้จัดงานแบบออนไลน์ร่วมกัน
การบรรลุความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีและเด็กหญิง เป็นเป้าหมายที่สำคัญเป้าหมายหนึ่ง (SDG 5) สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ การจัดงานดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนสตรีและเด็กหญิงให้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในวงการมาตรฐานและวิทยาศาสตร์มากขึ้น และเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม SDG 5 ต่อไป
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2628.html
2. https://www.un.org/en/observances/women-and-girls-in-science-day
Related posts
Tags: COVID-19, Forensic Sciences, ISO 26000, SDG 5, social responsibility, Standardization, Women & Girls
Recent Comments