เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2451 (ค.ศ.1908) เป็นวันที่ท้องถนนของนครนิวยอร์กเต็มไปด้วยผู้หญิงจากโรงงานเย็บผ้ากว่า 15,000 คนร่วมกันเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงานลงจากเดิมวันละมากกว่า 16-17 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมง และขอเพิ่มค่าแรงพร้อมทั้งขอให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งต่อมาหลายประเทศได้สนับสนุนสิทธิสตรีมากขึ้น และในเวลาต่อมา องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล เมื่อปี 2518 (ค.ศ.1975)
ปัจจุบัน วันสตรีสากลถือเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ปกติ ทั่วโลกจะมีการเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี แต่สำหรับปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 จึงจัดงานเฉลิมฉลองทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีคำขวัญว่า “เลือกที่จะท้าทาย” (Choose to Challenge)
ทั้งนี้ เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โลกเต็มไปด้วยความท้าทายที่ทำให้ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ และทุกคนต้องรับผิดชอบต่อความคิดและการกระทำของตนเองตลอดเวลาในทุกๆ วัน ดังนั้น ผู้หญิงสามารถเลือกที่จะก้าวข้ามอคติและความไม่เสมอภาคทางเพศ ตลอดจนเลือกที่จะค้นหาความสำเร็จและเฉลิมฉลองให้กับตนเองได้ในที่สุด เพราะเราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างโลกที่มีส่วนร่วมด้วยกันได้
ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น แต่หากเป็นงานในระดับผู้นำหรือหัวหน้าของรัฐบาลแล้ว องค์การสหประชาชาติมีรายงานว่ามีเพียง 22 ประเทศเท่านั้นที่แต่งตั้งผู้หญิงเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีผู้หญิงที่ทำงานในรัฐสภาเพียง 24.9% เท่านั้นจากทั่วโลก และใน 119 ประเทศไม่เคยมีผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศเลย
อย่างไรก็ตาม ไอเอสโอได้เห็นความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก ล่าสุด ไอเอสโอได้แต่งตั้งประธานไอเอสโอคนใหม่ซึ่งเป็นผู้หญิงคือ อุลริกา ฟรังเก และมีกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2565 ไอเอสโอเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมโลกได้ และเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ไอเอสโอก็ได้เผยแพร่เอกสารข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการสากล IWA 34, Women’s entrepreneurship — Key definitions and general criteria
เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่สนับสนุนหัวข้อการรณรงค์วันสตรีสากลในปี 2564 ซึ่งได้แก่ “ความเป็นผู้นำของสตรีกับการบรรลุอนาคตที่เท่าเทียมกันในภาวะที่โลกเกิดโรคระบาด COVID-19” โดยได้มีการให้ความหมายและหลักเกณฑ์ทั่วไปในเรื่องความเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของผู้หญิงซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกโครงการต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพลังทางเศรษฐกิจโดยผู้หญิง
IWA 34 เป็นเพียงหนึ่งในโครงการหลายๆ โครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคมผ่านการมาตรฐาน ไอเอสโอมีโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาได้ในงานด้านมาตรฐาน ซึ่งผู้หญิงจะมีบทบาทที่ความสำคัญและเท่าเทียมกันในทุกเรื่องในงานมาตรฐาน
เอกสารดังกล่าวยังมีเกณฑ์การประเมินปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนิยามต่างๆ เช่น ความเป็นเจ้าของ การบริหารจัดการ การควบคุม และวิธีการจัดการปรับลดหุ้น เป็นต้น
ไอเอสโอเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการพัฒนามาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่เราทุกคนต้องการเห็นบนโลกนี้ และที่สำคัญคือ มาตรฐานสากลเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการลดความไม่เท่าเทียมกันและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเท่าเทียมกันและมีความเป็นธรรม รวมถึงเอกสาร IWA และมาตรฐานอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อ 5 เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ (SDG 5: Gender Equality)
ดร.เรเน เฟอร์กุสันบัฟฟอร์ด ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานแห่งบาฮามัส (BBSQ) ซึ่งเป็นสมาชิกของไอเอสโอ ได้กล่าวถึงผู้หญิงว่าสามารถนำเอาความรู้สึกของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีศิลปะในการเจรจามาใช้ในการแสดงความเป็นผู้นำและสามารถเป็นการสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ เขารู้สึกว่าผู้หญิงต้องยอมรับความแตกต่างจากผู้ชายและแม้ว่าบางครั้งจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าอ่อนแอ แต่ในความเปราะบางก็ยังคงมีความเข้มแข็ง และในความสุภาพใจดีก็ยังมีความกล้าหาญ ซึ่งผู้หญิงจะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกของเราได้
นับจากวันที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิเมื่อ 8 มีนาคม 2451 จนถึงวันนี้ เท่ากับ 113 ปีซึ่งผู้หญิงทั่วโลกได้พยายามเรียกร้องสิทธิสตรี ทำให้บทบาทของผู้หญิงได้รับการยกระดับฐานะมากขึ้นและมีส่วนในการจรรโลงสังคมมากขึ้น และไอเอสโอยังคงสนับสนุนผู้หญิงให้เข้ามาทำงานและเป็นผู้นำในงานด้านการมาตรฐานมากขึ้น ทำให้มีส่วนร่วมในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรฐาน ISO 26000, Guidance on social responsibility ด้วยเช่นกัน
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2638.html
2. https://www.internationalwomensday.com/Theme
Related posts
Tags: BBSQ, COVID-19, Gender Equality, ISO, IWA 34, SDG 5, Standardization, women
Recent Comments