จากบทความ เรื่อง ผู้นำสตรีคนใหม่ของไอเอสโอกับกลยุทธ์ 2030 ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงบทสัมภาษณ์อุลริกา ฟรังเก ประธานไอเอสโอคนใหม่ซึ่งกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งในปีเดือนมกราคม 2565 และในระหว่างปี 2564 นี้ จะทำหน้าที่ในฐานะที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานไอเอสโอในปีหน้าต่อจากเอ็ดดี นีรอกเก ประธานไอเอสโอคนปัจจุบัน
ในระหว่างที่โรคระบาด COVID-19 ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของไอเอสโอนั้น ฟรังเกได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้พร้อมกับกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงกับงานมาตรฐานไว้ด้วย
งานใหม่ในไอเอสโอกับ COVID-19
สำหรับมุมมองเรื่องโรคระบาด COVID-19 กับธุรกิจนั้น ฟรังเกมองเห็นว่าโมเดลธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ในยุคนี้ องค์กรจะต้องคิดทบทวนวิธีการใช้ชีวิตและวิธีการทำงานไปพร้อมกัน และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเท่าที่จะเป็นไปได้ และนี่ก็คือหัวใจสำคัญของการก้าวสู่ความสำเร็จ
การปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความพิเศษเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่องค์กรจะต้องปรับตัวและสร้างกรอบการดำเนินการใหม่ซึ่งสามารถทำงานต่อไปได้ มีการวิเคราะห์และมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน
สำหรับคำถามที่ว่าในขณะที่โลกกำลังวุ่นวายอยู่กับวิกฤต COVID-19 มาตรฐานไอเอสโอจะช่วยให้ห้วงเวลาที่ไม่แน่นอนเหล่านี้มีเสถียรภาพมากขึ้นได้อย่างไร
ฟรังเกตอบว่าในฐานะที่เป็นผู้นำ ต้องถามตัวเองว่าในช่วงเวลาพิเศษที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนเช่นนี้ การตอบสนองของเราในฐานะองค์กรแห่งหนึ่งจะต้องเป็นอะไรที่พิเศษเช่นกันหรือไม่ อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ไอเสโอสามารถเตรียมมาตรฐานจำนวนหนึ่งให้กับสมาชิกโดยไม่คิดค่าบริการ เช่น มาตรฐานเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งมาตรฐานต่างๆ อย่างอุปกรณ์ช่วยหายใจและระบบทางเดินหายใจ ชุดป้องกันสารเคมีและเชื้อโรค น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่มือ รวมทั้งการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ความมั่นคงปลอดภัยและความยืดหยุ่น เป็นต้น มาตรฐานเหล่านี้สามารถช่วยเหลือโรงพยาบาลและช่วยเหลือผู้ผลิตในการวางแผนการผลิตล่วงหน้าสำหรับอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ที่จำเป็น
ในโลกที่มีการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวมากขึ้น มาตรฐานเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ การมีผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่สามารถพึ่งพิงได้ถือเป็น “สินทรัพย์” ที่ดีมาก
ในเวลาเช่นนี้ มาตรฐานมีบทบาทเป็นอย่างมากในการช่วยให้องค์กรจัดการกับกระบวนการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องและมีการเตรียมตัวที่ดีขึ้นสำหรับเหตุการณ์ที่มองไม่เห็นในอนาคต
ฟรังเกมองโรคระบาดว่าเป็นการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับไอเอสโอ บทเรียนสำหรับทุกคนในระบบไอเอสโอคือทุกคนค้นพบว่าสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ในโลกดิจิทัลโดยใช้การประชุมทางไกลและเทคโนโลยีเสมือนจริง และยังคงพัฒนามาตรฐานด้วยคุณภาพสูงได้
การที่จะก้าวไปข้างหน้า เราต้องฉวยโอกาสในการทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานเสมือนจริงมีความเข้มแข็งซึ่งได้มีการนำเอาสมาชิกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกันซึ่งเปิดกว้างสำหรับวิธีการที่เราทำงาน ซึ่งลดความจำเป็นในการเดินทางและพบปะกันตัวต่อตัว
การพัฒนามาตรฐานกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและเป็นเวลาที่เราต้องยกระดับและตอบสนองความจำเป็นของโลกที่มีการเชื่อมต่อกันให้มากขึ้น สมรรถนะในการทำงานก็ต้องทำให้ทันเวลา เพื่อให้ทั่วโลกสามารถพึ่งพิงงานมาตรฐานระหว่างประเทศได้
บทบาทของผู้หญิงกับงานมาตรฐาน
สำหรับคำถามที่ว่า ความคาดหวังต่อแผนปฏิบัติการเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ปี 2019-2021คืออะไร ฟรังเกตอบว่า อยากเห็นผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการมาตรฐานและเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในไอเอสโอมากขึ้น สำหรับงานที่ริเริ่มโดยไอเอสโอในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศมีความสำคัญกับทั้งองค์กรและผู้ใช้งานมาตรฐานทั้งหมดด้วย
มุมมองเรื่องการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันระหว่างเพศในงานมาตรฐานจะช่วยให้มั่นใจว่างานของไอเอสโอยังมีความน่าสนใจสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ดังนั้น เมื่อมีการเก็บข้อมูล จะมีการเลือกตัวอย่าง และพัฒนาวิธีทดสอบว่าได้ผลสำหรับคนทั้งสองเพศซึ่งนำไปสู่มาตรฐานที่ครอบคลุมและตอบสนองเรื่องของความเท่าเทียมกันทางเพศด้วย นอกจากนี้ แผนปฏิบัติการเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศของไอเอสโอจะช่วยนำมาซึ่งคนใหม่ๆ ที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในการมาตรฐานและขยายความหลากหลายของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมออกไป แผนนี้ครอบคลุมพันธสัญญาในการกำหนดอัตราส่วนระหว่างหญิงและชายในคณะกรรมการวิชาการและระบุภาคส่วนที่ผู้หญิงยังมีผู้แทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
การพัฒนามาตรฐานยังเป็นเรื่องที่ผู้ชายเข้ามามีบทบาทมากกว่าผู้หญิง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย และเราควรส่งเสริมให้มีความหลากหลายในคณะกรรมการวิชาการ
ความหลากหลายมักจะนำมาซึ่งความก้าวหน้า การมาตรฐานเป็นการรวมเอามุมมองที่แตกต่างกันเข้าไปอยู่ในการส่งมอบแบบเดียวกัน ดังนั้น ยิ่งใส่ความหลากหลายเข้าไปมากเท่าใด มาตรฐานก็จะออกมาดีมากขึ้นเท่านั้น ในการพัฒนาและทบทวนมาตรฐาน จึงต้องมีตัวแทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายซึ่งรวมถึงผู้หญิงด้วย
เพื่อให้แรงผลักดันนี้ก้าวไปข้างหน้า ไอเอสโอก็จะยังคงนำผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในทุกสาขาของการมาตรฐานเข้ามา และในการที่จะทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องมั่นใจว่าไม่ได้ละเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนคุณภาพของมาตรฐานในขั้นสุดท้ายด้วยการทำให้พวกเขามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ฟรังเกหวังว่าจะมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการมาตรฐานมากขึ้นและมีบทบาทนำในไอเอสโอ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายก็คือการสร้างมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ทั้งวิธีการเขียนและวิธีการใช้ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
กลยุทธ์ไอเอสโอ 2030 กับความสำเร็จของไอเอสโอ
แล้วในฐานะที่เป็นประธานไอเอสโอ มองว่าความสำเร็จคืออะไร ฟรังเกตอบว่าความไม่แน่นอนยังคงเกิดขึ้นทุกวันในหลายมิติ ต้องขอบคุณกลยุทธ์ไอเอสโอ 2030 ซึ่งจะทำให้ไอเอสโอมีแนวทางที่เข้มแข็งในการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจและต่อสู้กับความท้าทายด้วยการสร้างมาตรฐานที่โลกต้องการในยามที่โลกต้องการความหวัง
ในบริบทของโลกที่มีความท้าทายในทุกวันนี้ เราต้องคิดทบทวนในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ในช่วงสิบปีข้างหน้า เราจะกลับไปเริ่มฟื้นฟูการมาตรฐานขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วยความพยายามในเรื่องที่เราอาจได้รับผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องมากที่สุดซึ่งก็คือเรื่องของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม และสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ แรงบันดาลใจสูงสุดของเธอก็คือคือการเพิ่มความสามารถในการมองเห็นอนาคตของไอเอสโอซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก้ไขปัญหาในบริบทของโลก เราต้องเต็มใจถามคำถามยากๆ และต่อสู้กับประเด็นเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้
อีกเพียงทศวรรษเดียวก็จะเป็นเวลาที่ต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติแล้ว ในขณะที่ยังไม่ถึงเวลานั้น ความแข็งแกร่งของชุมชนระหว่างประเทศซึ่งเราได้รู้เห็นเป็นพยานระหว่างที่เกิดโรคระบาด จะช่วยให้เรายกระดับเหนือความท้าทายที่เรามองไม่เห็น
วิสัยทัศน์ของไอเอสโอที่เป็น “การทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้นและดีขึ้น” ภายในปี 2030 ก็ไม่ใช่แค่ความคิดที่อยากให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่มันเป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างแท้จริง และอนาคตของโลกเราก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ด้วย ฟรังเกกล่าวในที่สุด
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2635.html
Related posts
Tags: COVID-19, ISO, ISO Gender Action Plan, SDGs 5, Standardization, Strategy 2030, the ISO President
Recent Comments