โรคระบาด COVID-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ทั้งในด้านสังคม และเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด ท่ามกลางโรคระบาด ผู้คนได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น เรื่องของการจัดซื้อแบบยั่งยืน และการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเอง และใส่ใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงการรับประทานอาหารมังสวิรัติ และอาหารเจ นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้วยังช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ได้ลดน้อยลงไป ผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาแทนที่เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเนยเกิดขึ้นมามากมาย เช่น ชีสมังสวิรัติ ชีสเจ ไอศกรีมเจ และลูกชิ้นเจ เป็นต้น
อันที่จริงแล้ว มีฉลากและกฎหมายที่ช่วยอธิบายและบอกกล่าวผู้บริโภคได้ดีในเรื่องฉลากอาหาร แต่ยังไม่มีแหล่งอ้างอิงในระดับโลกที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานความหมายและเกณฑ์ทางวิชาการสำหรับอาหารและส่วนผสมอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจที่ได้รับความเห็นพ้องต้องกันจากทั่วโลก ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสามารถนำไปใช้อ้างอิงผลิตภัณฑ์ทางการตลาด (ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจ หมายความรวมถึงผู้ที่บริโภคอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกชนิดหรือ vegetarian, ผู้ที่บริโภคอาหารประเภทพืชผักเป็นหลักและบริโภคไข่ น้ำนม และผลิตภัณฑ์นมด้วย แต่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล หรือ Lacto-ovo vegetarian, ผู้ที่บริโภคอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่างๆ และไข่ หรือ Ovo vegetarian และผู้ที่บริโภคอาหารจำพวกผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่างๆ รวมทั้งนม ชีส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากนม หรือ Lacto Vegetarian)
มาตรฐาน ISO 23662, Definitions and technical criteria for foods and food ingredients suitable for vegetarians or vegans and for labelling and claims เหมาะกับการสื่อสารสำหรับการทำการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน (B2B) อุตสาหกรรมการค้าอาหารและการกล่าวอ้างฉลากอาหาร สำหรับความหมายและเกณฑ์ทางวิชาการที่กล่าวในมาตรฐานนี้ใช้สำหรับหลังการเก็บเกี่ยวเท่านั้น และไม่ใช้สำหรับความปลอดภัยสำหรับมนุษย์ ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือการพิจารณาในมิติทางสังคมเศรษฐกิจ เช่น การค้าที่เป็นธรรม หรือสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น รวมทั้งไม่ใช้สำหรับความเชื่อทางศาสนา และลักษณะของวัสดุบรรจุภัณฑ์
โดมินิก ไตมานส์ ผู้นำโครงการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าวระบุว่าความสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 23662 ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ามีเกณฑ์ที่จำเป็น มีความสมบูรณ์และความเชื่อมโยงกันของการสื่อสารผลิตภัณฑ์ เขากล่าวว่าผู้บริโภคทุกวันนี้คาดหวังข้อความข่าวสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมาอย่างเสมอต้นเสมอปลายซึ่งสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์อาหารที่พวกเขาเลือกซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกมังสวิรัติหรืออาหารเจ
นอกจากนี้ ความสอดคล้องกับเอกสารนี้ยังช่วยให้มั่นใจว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และความหมายเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและผู้ที่ทำการค้าได้รับการอำนวยความสะดวกการค้าในท้องถิ่นและการค้าระหว่างประเทศ
ISO 23662 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 34, Food products โดยมีเลขานุการคือ AFNOR ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส
ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2634.html
Related posts
Tags: Environment, Health, ISO 23662, Standardization, Vegans, Vegetarians
Recent Comments