องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานวันป่าไม้โลกของทุกปี ได้รายงานว่าป่าไม้ทั่วโลกกำลังลดลงปีละประมาณ 10 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 62,500,000 ไร่ หรือ 24,700,000 เอเคอร์)
การตัดไม้แบบผิดกฎหมายและการทำลายป่ามีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในชุมชน และการริดรอนการเข้าถึงแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ แต่การฟื้นฟูป่าสามารถช่วยป้องกันผลกระทบดังกล่าว และยังสามารถสร้างอาชีพและทรัพยากรที่มีคุณค่าได้อีกด้วย
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้ประกาศให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็นวันป่าไม้โลก เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดให้รณรงค์ในหัวข้อ “Forest Restoration: A path to recovery and well – being” (ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ภายใต้หัวข้อ การฟื้นฟูป่า สู่แนวคิด “รัฐมีป่า ประชามีสุข”) และองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization - ISO) หรือไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานที่สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้
ISO 38200, Chain of custody of wood and wood-based products เป็นมาตรฐานที่สนับสนุนการปลูกป่าอย่างยั่งยืนโดยการทวนสอบผลิตภัณฑ์ไม้ต่างๆ เพื่อทำให้ลูกค้าของซัพพลายเออร์ไม้มั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากแหล่งค้าไม้ที่ถูกกฎหมายตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ไม้อย่างยั่งยืนและป้องกันวิธีการที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานที่สนับสนุนการฟื้นฟูป่า คือ ISO 14055-1, Environmental management – Guidelines for establishing good practices for combatting land degradation and desertification – Part 1: Good practices framework ซึ่งว่าด้วยคำแนะนำด้านแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับปัญหาดินเสื่อมโทรม และการแปรสภาพเป็นทะเลทราย – ส่วนที่ 1 แนวปฏิบัติที่ดีในการกำหนดกรอบการทำงาน การให้คำแนะนำในการพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือกับปัญหาดินเสื่อมโทรมในภูมิภาคแห้งแล้งและภูมิภาคชุ่มชื้น
มาตรฐานนี้กล่าวถึง การกระทำหรือการแทรกแซงการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือลดปัญหาดินเสื่อมโทรม หรือบริเวณที่เสื่อมโทรมไปแล้ว เพื่อให้การฟื้นฟูที่ดินสามารถปรับปรุงผลิตภาพและระบบนิเวศ มาตรฐานนี้ครอบคลุมถึงมุมมองของการเคารพสิทธิมนุษยชน การจัดการป่าไม้และการปฏิบัติทางการเกษตร รวมถึงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมทางอุตสาหกรรม
การนำมาตรฐานทั้ง 2 ฉบับนี้ไปประยุกต์ใช้ มีส่วนโดยตรงในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 15 : ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศ การจัดการป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ ขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal for life on land: SDG 15)
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2643.html
2. https://www.dmcr.go.th/detailAll/48996/nws/22
Related posts
Tags: carbon footprints, Climate Change, desertification, forest, Forestry, greenhouse gas, ISO, ISO 14055-1, ISO 382200, land degradation, SDG, SDG15, SDGs, standard, Standardization
Recent Comments