บทความเรื่อง มาตรฐานเพื่ออาคารพลังงานประสิทธิภาพสูง ตอนที่ 1ได้กล่าวถึงมาตรฐานด้านการจัดการพลังงานที่ช่วยในเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยของอาคาร คือ ISO 23234 มาตรฐานด้านการจัดการพลังงานที่ช่วยให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี คือ มาตรฐาน ISO 7708 และ ISO 13138 นอกจากนี้ ยังมีและชุดมาตรฐาน ISO 16000 สำหรับอากาศภายในสถานที่ก่อสร้าง และมาตรฐานที่ช่วยลดโลกร้อนด้วย คือ ISO 52127
สำหรับบทความในตอนนี้จะกล่าวถึงมาตรฐานด้านการก่อสร้างอาคารที่ส่งเสริมเรื่องความสามารถในการเข้าถึงของทุกคน และมาตรฐานที่ช่วยในเรื่องความแข็งแกร่งของงานวิศวกรรมโยธาดังต่อไปนี้
มาตรฐานที่ส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีคนบนโลกนี้มากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นความสามารถในการเข้าถึง ดังนั้นสภาพแวดล้อมในการก่อสร้างที่ถูกนำมาพิจารณาจึงเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคน
มาตรฐานอย่าง ISO 21542, Building construction – Accessibility and usability of the built environment ช่วยในเรื่องดังกล่าวได้เนื่องจากมีการระบุขอบข่ายของข้อกำหนดและข้อแนะนำสำหรับองค์ประกอบของการก่อสร้างที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงอาคาร รวมทั้งการจัดการความสามารถในการเข้าถึงของทุกคน (รวมทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เป็นต้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนเพื่อให้แน่ใจว่าจะยังคงตอบสนองความต้องการของตลาดได้ พร้อมกับปรับปรุงฉบับใหม่ให้ทันสมัยเนื่องจากจะต้องเผยแพร่ในเร็วๆ นี้
เมื่อพูดถึง “ความสามารถในการเข้าถึง” ที่อยู่อาศัยหรือบ้านเรือนของเราเองก็มีความสำคัญ ปัจจุบัน มาตรฐาน ISO 15928-7, Houses – Description of performance – Part 7: Accessibility and usability อยู่ในระหว่างการพัฒนา มาตรฐานนี้มีการกำหนดวิธีการเพื่ออธิบายสมรรถนะของบ้านที่รวมถึงคำอธิบายของปัจจัยที่เกี่ยวข้องสำหรับความสามารถในการเข้าถึงและความสามารถในการใช้งาน
นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยรูปลักษณ์ที่ทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยระหว่างการใช้งานประจำวัน เช่น การป้องกันการลื่น ล้ม หรือกระแทก
มาตรฐาน ISO 15928-7 มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ประเมินการออกแบบและการก่อสร้างบ้านเรือน การค้าด้านการเคหะระหว่างประเทศ หรือระบบที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าว และในการพัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงสำหรับปกป้องบ้านเรือน
งานวิศวกรรมโยธาที่แข็งแกร่งด้วยมาตรฐานไอเอสโอ
อาคารและงานวิศวกรรมโยธาต่างๆ จำเป็นต้องมีความมั่นคงปลอดภัย ความยั่งยืน สามารถเข้าถึงได้ด้วยการระบายอากาศที่ดี แต่จะทำอย่างไร อาคารจึงจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านทานสภาพภูมิอากาศที่มีสภาพแวดล้อมและพายุที่รุนแรงได้
รายงานทางวิชาการ ISO/TR 22845, Resilience of buildings and civil engineering works ก็เป็นเอกสารอีกฉบับหนึ่งสำหรับการเริ่มต้นที่ดีเพราะเป็นรายงานทางวิชาการที่ให้ดัชนีของข้อมูลที่มีอยู่ดั้งเดิมสำหรับแนวคิด ความเสี่ยงของภัยอันตรายหรือหายนะและมาตรการรับมือสำหรับความยืดหยุ่นของอาคารและงานวิศวกรรมโยธา
มาตรฐานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นยังให้แนวทางของการทำให้อาคารมีความแข็งแกร่งและลดความเสี่ยงทั้งหมดลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการตอบสนองโรคระบาด COVID-19 มาตรฐานที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาก็คือรายงานทางวิชาการ ISO/TR 5202, Buildings and civil engineering works – Building resilience strategies related to public health emergencies – Compilation of relevant information
รายงานทางวิชาการที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาคารที่มีการรวบรวมมาจากกรณีฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจากทั่วโลก รวมทั้งจากกรณีศึกษาดั้งเดิม ตัวชี้วัดความฉุกเฉินและแนวทาง และการสะท้อนและการวิจัยถึงวิธีการปรับปรุงบทบาทของอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกในกรณีฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
มาตรฐานเหล่านี้ทั้งหมดและมาตรฐานอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับอาคารจะมีส่วนร่วมโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being: SDG 3) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, innovation and infrastructure: SDG 9) ลดความไม่เท่าเทียมกัน (Reduced inequalities: SDG 10) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable cities and communities: SDG 11) การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible consumption and production: SDG 12) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate action: SDG 13)
ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2642.html
Related posts
Tags: Accessibility, Building construction, Energy performance, Houses, ISO 13138, ISO 15928-7, ISO 16000 Series, ISO 21542, ISO 23234, ISO 52000, ISO 52127, ISO/TR 22845, ISO/TR 5202, Standardization, Sustainable Development, Usability
ความเห็นล่าสุด