ธุรกิจและองค์กรต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมซึ่งสามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับความได้เปรียบทางการแข่งขัน และหากจะเริ่มต้นกับการมีความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม เราควรทำอย่างไร
“ความคิดสร้างสรรค์” และ “นวัตกรรม” เปรียบเสมือนเพื่อนคู่หูที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนเร้นของจิตใจเพื่อก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ส่วนนวัตกรรมเป็นงานที่นำแนวคิดใหม่ๆ นั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง แต่บางครั้ง นวัตกรรมก็เกี่ยวข้องกับการแนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงสำหรับระบบเดิมที่มีเสถียรภาพอยู่แล้ว
จากนิยามของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ คำว่า “นวัตกรรม” หมายถึง สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น นวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์กับโลกของเรา
วารสาร Entrepreneur เดือนมกราคม 2564 ได้แนะนำเคล็ดลับ 5 ประการที่ทำให้ทุกองค์กรสามารถนำแนวคิดไปปรับใช้เพื่อเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ดังต่อไปนี้
1. กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เมื่อต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แน่นอนว่าความคิดสร้างสรรค์ต้องมาก่อน ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เราสามารถระดมวิธีคิดและการกระทำใหม่ๆ เราสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของสมองด้วยเกมหรือความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติ อย่างแม่น้ำ หรือมหาสมุทร ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าทำให้คลื่นสมองของคนเรายาวขึ้นและทำให้สมองส่วนที่ใช้ตรรกะหรือเหตุผล (Neocortex) ของเราได้พักผ่อน สำหรับสมองส่วนนี้ จะทำงานเมื่อเราพักผ่อนและมีความสงบ (Relaxation) องค์ประกอบเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการมีความคิดสร้างสรรค์ หลายครั้งจะพบว่าเมื่อใดที่เรามีความสุขและสงบ ก็มักจะมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเอง
2. ค้นหาแรงบันดาลใจ ลองศึกษาสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร โดยการหาข้อมูลหรือวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นว่ามีการสร้างสรรค์อะไรใหม่บ้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจเดียวกันกับองค์กรของเรา ความจริงแล้ว การเรียนรู้ว่าธุรกิจหรืองค์กรอื่นมีการแก้ปัญหาอย่างไร อาจนำไปสู่การจุดประกายให้องค์กรของเราสามารถนำบางสิ่งบางอย่างมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่คล้ายๆ กันได้ หรือลองค้นหาว่ามีการเผยแพร่งานวิจัยใหม่ๆ ของมหาวิทยาลัยหรือไม่ซึ่งบางทีอาจจะช่วยให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือลองดูว่า ในพื้นที่รอบๆ องค์กรของเรามีการเปิดตัวธุรกิจใหม่หรือไม่แล้วพิจารณาว่า องค์กรจะเข้าไปเสนอบริการอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ อย่าลังเลที่จะกระตุ้นหรือส่งเสริมบุคลากรให้ใช้เวลาส่วนตัวค้นหาแรงบันดาลใจทำในสิ่งที่ชื่นชอบ แล้วก้าวข้ามขีดจำกัดของกฎเดิมๆ และเมื่อกลับไปทำงานประจำ การได้ทำในสิ่งที่ชื่นชอบจะช่วยให้มีพลังและก่อให้เกิดวิธีคิดใหม่ สามารถเชื่อมโยงและหลอมรวมเข้ากับแนวคิดใหม่ได้อย่างเป็นระบบ
3. คิดเร็วทำเร็ว เพื่อช่วยให้ตัวเราเองและองค์กรสามารถหลุดพ้นจากรูปแบบเดิมๆ ให้หาวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและได้ผลที่รวดเร็ว มีคำแนะนำที่เราสามารถนำมาใช้ได้จากหนังสือของ Jake Knapp’s book ชื่อ “วิธีแก้ปัญหาใหญ่ๆ และทดสอบแนวคิดใหม่ภายใน 5 วัน ช่วยให้มีเครื่องมือในการสร้างสรรค์ในช่วงเวลาสั้นสุดๆ” (Sprint: How to Solve Big Problems and Test New Ideas in Just Five Days gives you tools to lead short-burst creativity sessions.) หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรามีเทคนิคในการคิดและทดสอบแนวคิดได้เร็วและรู้ผลภายใน 5 วัน ซึ่งหากนำมาปฏิบัติกับทุกตำแหน่งงานในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างรวดเร็ว
4. เต็มใจยอมรับความล้มเหลว นวัตกรรมที่แท้จริงมักจะมีต้นทุนเสมอ ดังนั้น ต้องยอมลงทุนลงแรงทดสอบแนวคิดที่มีอยู่เพื่อให้ได้แนวคิดที่ดีที่สุด ให้ถือเสียว่า ความล้มเหลวคือความพยายามครั้งแรกเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ปกติแล้วเราจะพยายามอย่างเต็มที่ทุกวันเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่ลองกล้าที่จะล้มเหลวดูบ้างโดยทำสิ่งใหม่ๆ กับองค์กรหรือทีมงาน และเมื่อล้มเหลวร่วมกันระหว่างทางที่จะไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็ไม่เป็นไร ลองท้าทายสมาชิกในทีมแต่ละคนเพื่อหาแนวคิดใหม่ๆ สักคนละ 4 แนวคิด อย่างน้อยจะมี 3 ใน 4 แนวคิดที่ล้มเหลว โดยกำหนดให้ทุกคนเสนอแนวคิดทุกสัปดาห์ พร้อมจัดการประชุมเพื่อให้เห็นถึงความพยายามที่จะเสนอแนวคิดของสมาชิก และเพื่อให้สนุกสนานยิ่งขึ้น ควรมอบรางวัลสำหรับความล้มเหลวที่น่าตื่นเต้นที่สุด และความพยายามที่สร้างสรรค์ที่สุด ให้บูรณาการการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของทุกคนเข้ากับกระบวนการนวัตกรรม พร้อมพิจารณาว่ามีช่องว่างใดที่จะสามารถพัฒนาต่อได้ ในบางครั้งเราจะมองเห็นโอกาสใหม่ๆ จากความล้มเหลว
5. ตั้งคำถามกับสมมติฐาน เรามักจะทำอะไรบางอย่างแบบเดิมๆ เพราะเคยทำแบบนั้นมาตลอด ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะฝึกตั้งคำถามว่าการที่เราทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการและความเชื่อเช่นนั้น เราทำด้วยทางเลือกแบบใดบ้าง แล้วผลจะออกมาแตกต่างกันอย่างไร หากต้องการประสบความสำเร็จ ก็ลองฝึกปฏิบัติตามปกติเหมือนที่เราพูดคุยกับคู่ค้า กำหนดหัวข้อหลักในการสนทนา ทำให้คู่สนทนายอมรับทางเลือกที่เราเสนอ และพยายามเสนอทางเลือกใหม่ๆ เพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผล แล้วพิจารณาว่ามีข้อสรุปใดที่แตกต่างไปจากความเชื่อหรือรูปแบบเดิมๆ การฝึกฝนการคิดผ่านมุมมองที่แตกต่างกันเช่นนี้จะทำให้เกิดแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ลองนำเคล็ดลับทั้ง 5 ประการไปลงมือปฏิบัติเพื่อให้เพื่อนคู่หูอย่าง “ความคิดสร้างสรรค์” และ “นวัตกรรม” สามารถนำพาองค์กรของเราให้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ต้องการ และหากต้องการให้องค์กรมีการจัดทำนวัตกรรมอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล ไอเอสโอมีมาตรฐานที่ช่วยให้ทุกองค์กรสามารถทำได้อย่างครอบคลุมทุกขั้นตอนนับตั้งแต่เรื่องของการจัดการนวัตกรรม การทดสอบและเครื่องมือการจัดการเชิงกลยุทธ์รวมถึงหุ้นส่วน ไปจนถึงเรื่องของการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสามารถศึกษาได้จากบทความเรื่อง “ไอเอสโอออกมาตรฐานใหม่ช่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา” “สานฝันนวัตกรให้กลายเป็น “นวัตกรรม” ด้วย ISO 56002” ตอนที่ 1” “สานฝันนวัตกรให้กลายเป็น “นวัตกรรม” ด้วย ISO 56002” ตอนที่ 2” และ “สานฝันนวัตกรให้กลายเป็น “นวัตกรรม” ด้วย ISO 56002” ตอนที่ 3” และบทความ MASCIInnoversity เกี่ยวกับนวัตกรรมเรื่องอื่นๆ ค่ะ
ที่มา: 1. https://www.entrepreneur.com/article/362001
2. https://www.gotoknow.org/posts/336175
Related posts
Tags: Creativity, Innovation, Innovation Management, Inspiration, ISO 56000, Neocortex, Relaxation, Tips for Innovation
ความเห็นล่าสุด