ปัจจุบัน ความเสี่ยงของโรคระบาด COVID-19 เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติซึ่งถือเป็นภัยอันดับหนึ่งของโลก และรองลงมา ยังมีภัยอื่นๆ ที่เราจะต้องเตรียมตัวรับมือด้วย
ภัยคุกคามอันดับต้น ๆ ที่โลกของเราจะต้องเผชิญในอีกสิบปีข้างหน้าตามรายงานความเสี่ยงระดับโลกของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ฉบับล่าสุด ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายที่มนุษย์กระทำกับสิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID -19 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เราผ่านพ้นไปได้ก็คือความร่วมมือระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ การแบ่งปันข้อมูลและการประสานความร่วมมือที่ดี
มาดูความเสี่ยงดังกล่าวพร้อมทั้งวิธีจัดการและการเตรียมรับมือสำหรับโลกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังต่อไปนี้
ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
การที่สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทำให้คนทั่วโลกถูกล็อกดาวน์อยู่ในพื้นที่อันจำกัด ได้ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มีปริมาณลดลง และภารกิจการลดก๊าซเรือนกระจกอาจจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า แต่มีรายงานที่แสดงให้เห็นว่าหากประชากรโลกกลับมาทำงานตามปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 การปล่อยก๊าซคาร์บอนก็จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและภาคเอกชนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจก จึงได้เลือกแนวทางในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม เช่น การนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปใช้ในองค์กรตามรายละเอียดใน ISO 14001 ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถเลือกทางเลือกต่างๆ ได้โดยใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์ในกิจกรรมของตน การนำมาตรฐานนี้ไปใช้งานจะทำให้องค์กรมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถกำหนดเป้าหมายและดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายขด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร
นอกจากนี้ หลายองค์กรได้นำชุดมาตรฐาน ISO 14060 ไปใช้เสริมกับมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งชุดมาตรฐาน ISO 14060 ได้ให้รายละเอียดวิธีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่างๆ ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการทำงานและจุดที่จำเป็นต้องปรับปรุงอย่างจริงจัง
สำหรับการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในระดับโลกยังต้องมีการลงทุนที่สำคัญและการเงินที่ยั่งยืนเพื่อเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ISO / TC 322 , Sustainable finance ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ กำลังจัดทำกรอบการทำงานภายใต้มาตรฐานใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อกำหนดและชี้นำกิจกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่นำมาใช้เสริมได้ เช่น ชุดมาตรฐานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่าง ISO 14030 ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับตราสารหนี้สีเขียวและ ISO 14097 สำหรับการประเมินและรายงานการลงทุนและกิจกรรมจัดหาเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปลอดโรค….ปลอดภัยด้วยมาตรฐานไอเอสโอ
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้ทั่วโลกได้เห็นจุดอ่อนและความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงระบบสุขภาพ และพบว่าความเสี่ยงของโรคติดเชื้อได้รับการรายงานติดอันดับสูงขึ้น แต่หากสามารถปิดจุดอ่อนดังกล่าวได้ ระบบการดูแลสุขภาพก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ไอเอสโอมีมาตรฐานจำนวนมากที่ทำให้เรามั่นใจในระดับคุณภาพและความปลอดภัยซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเห็นพ้องต้องกันทั่วโลก มาตรฐานเหล่านั้นมีส่วนช่วยโดยตรงในการลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น ในด้านจุลชีววิทยาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ห้องปลอดเชื้อ การฆ่าเชื้อ และการกรองอากาศ เป็นต้น
ในการตอบสนองต่อวิกฤตดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านไอเอสโอจากทั่วโลกกำลังดำเนินการเกี่ยวกับคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยองค์กรต่างๆเช่นบริการด้านสุขภาพในการจัดการ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเรียกว่า IWA 38 อันเป็นแนวปฏิบัติในการสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉินซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำที่ใช้กับโรงพยาบาลในปักกิ่งและอู่ฮั่นและโรงพยาบาลโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ อีกกว่าสิบแห่งในช่วงที่มีการระบาดสูง
IWA 38 จะช่วยให้สถาบันทางการแพทย์สามารถสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อโดยนำหลักฐานและคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดมาใช้งานประกอบการดำเนินการ
ความช่วยเหลือในระดับโลกอีกอย่างหนึ่งคือ คือ IWA 36 ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับบริการจัดส่งแบบไร้การสัมผัสและอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับโรคติดเชื้อจากการทำงานสำหรับผู้ให้บริการจัดส่งในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ลูกค้ามีความปลอดภัยมากขึ้นเนื่องจากปราศจากการสัมผัสของบริการจัดส่งด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่พบมากขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่เรื่องของความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ จะมีมาตรฐานใหม่ๆ ฉบับใดที่ช่วยปกป้องได้บ้าง โปรดติดตามในครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2647.html
Related posts
Tags: Climate Change, COVID-19, Cybersecurity, Environmental risks, Global risks, ISO 14001, ISO 14030, ISO 14060, ISO 14097, IWA 36, IWA 38, Standardization, Sustainable finance, WEF
Recent Comments