ออเดรย์ เฮปเบิร์น นางเอกตลอดกาลผู้ล่วงลับไปแล้วแห่งฮอลลีวู้ดและผู้อุทิศตนเองให้กับการทำงานในองค์กรยูนิเซฟได้กล่าวไว้ว่า “น้ำคือชีวิต และน้ำสะอาดหมายถึงสุขภาพที่ดี” และเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวถึง “น้ำ” เนื่องในโอกาสวันน้ำโลกในปี 2564 ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่าหลายอย่างสำหรับผู้คนในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป และได้รณรงค์ในหัวข้อ “น้ำที่มีคุณค่า” (Valuing Water) ซึ่งไอเอสโอก็เป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมในเรื่องนี้ด้วย
โครงการฉลากประสิทธิภาพน้ำสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและช่วยย้ำเตือนผู้ใช้น้ำให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของน้ำมากขึ้นและทำให้ผู้ใช้น้ำเลือกผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ช่วยในเรื่องประสิทธิภาพน้ำได้ดีขึ้นในขณะที่อีกหลายภูมิภาคของโลกยังคงขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีแนวทางการจัดทำโครงการฉลากประสิทธิภาพน้ำมาก่อน จนกระทั่งปัจจุบัน ไอเอสโออยู่ในระหว่างจัดทำร่างมาตรฐาน ISO 31600, Water efficiency labelling programmes – Requirements with guidance for implementation เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามโครงการฉลากประสิทธิภาพน้ำโดยสามารถเลือกแนวปฏิบัติที่ดีและแนวทางการจัดเตรียมและการนำโครงการฉลากประสิทธิภาพน้ำไปใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบน้ำ ท่อน้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับน้ำ
ริชาร์ด แลมเบิร์ต ผู้จัดการคณะกรรมการไอเอสโอที่รับผิดชอบมาตรฐานดังกล่าวระบุว่าแนวทางมาตรฐานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สามารถพัฒนาโครงการฉลากประสิทธิภาพน้ำได้ดีขึ้น และเป็นผลให้เกิดการส่งเสริมตลาดเพื่อผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น และคาดว่ามาตรฐานนี้จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนในการพัฒนาโครงการฉลากประสิทธิภาพน้ำให้ดีขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวัฏจักรการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรฐาน ISO 31600 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการโครงการของไอเอสโอ ISO/PC 316, Water-efficient products – Rating ซึ่งมีเลขานุการคือ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (SA)
สำหรับมาตรฐาน ISO 31600 เมื่อมีการนำไปใช้เสริมร่วมกับมาตรฐาน ISO 46001, Water efficiency management systems – Requirements with guidance for use จะทำให้องค์กรมีวิธีการและเครื่องมือในการวัดการใช้น้ำและช่วยให้องค์กรรับเอาตัวชี้วัดไปใช้งานเพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานไอเอสโอฉบับอื่นที่ช่วยให้องค์กรอนุรักษ์น้ำและปกป้องน้ำไม่ให้ได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่น มาตรฐาน ISO 20760, Water reuse in urban areas – Guidelines for centralized water reuse system เพื่อใช้ระบบน้ำรียูส และชุดมาตรฐาน ISO 16075 เพื่อใช้น้ำเสียบำบัดในโครงการชลประทาน
มาตรฐานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานที่มีผลโดยตรงต่อความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (Clean water and sanitation: SDG 6) ซึ่งต้องทำให้มั่นใจได้ว่ามีการจัดการน้ำและการสุขาภิบาลที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยมีการเน้นไว้ในเป้าหมายข้อ 6.4 ว่า “เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างความมั่นใจว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดจำนวนประชากรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)”
ทุกองค์กรสามารถนำมาตรฐานและแนวทางเกี่ยวกับการจัดการน้ำดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในองค์กรได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้องค์กรอยู่รอดเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตน้ำเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย และจะทำให้ ”น้ำ” มีคุณค่าต่อผู้คนทั่วโลกอย่างแท้จริง
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2644.html
Related posts
Tags: Clean water and sanitation, ISO 16075, ISO 20760, ISO 31600, ISO 46001, Standardization, Water efficiency labelling, Water efficiency management systems, Water reuse system, Water-efficient products
ความเห็นล่าสุด