ขณะนี้ หลายองค์กรต่างเผชิญหน้ากับความท้าทายและผลกระทบอีกระลอกอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดและความตื่นตระหนกต่อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีการแพร่ระบาดมาจากสหราชอาณาจักร และแอฟริกาด้วยอัตราที่รวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม และผู้คนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนซึ่งประชาชนในบางประเทศได้รับข่าวเกี่ยวกับการแพร่เชื้อไม่มากนัก บ้างก็ได้รับการบอกกล่าวว่าไม่มีอะไรต้องกังวลสำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม การรับข่าวสารต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีคำเตือนที่ชัดเจนล่วงหน้าจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยง แต่ก็ยังยากที่จะวางแผนและปรับตัวให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ แล้วองค์กรควรทำอย่างไร
นักวิจัยกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ว่า เกิดการแพร่เชื้อในสหราชอาณาจักรมากขึ้นราว 56% -70% จากการทดสอบตัวอย่างเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีการติดเชื้อมากกว่า 2 ใน 3 ภายในกลางเดือนธันวาคม 2563 และเพื่อยืนยันการวิจัยนี้ นักวิจัยจึงได้เปรียบเทียบผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่เป็นรายวันต่อประชากรล้านคนในช่วงหลายสัปดาห์นับตั้งแต่ก่อนปลายเดือนมกราคม 2564 ในสหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี และฝรั่งเศส และพบว่ามีเพียงสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้เท่านั้นที่เห็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ตัวเลขการติดเชื้อของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงสองสัปดาห์จาก 240 ราย ในวันที่ 10 ธันวาคม 2564เป็น 506 ราย ในวันที่ 24 ธันวาคม ในส่วนของแอฟริกาใต้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงเวลาดังกล่าวจาก 86 ราย เป็น 182 ราย เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการควบคุมใดๆ นักวิจัยจึงกล่าวว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่
จากการประมวลผลของตัวเลขผู้ป่วยเหล่านั้น อาจทำให้สภาพจิตใจของหลายคนไม่ค่อยดีนักและส่งผลต่อการตัดสินใจที่นำไปสู่ข้อผิดพลาดในหลายๆ ด้านของชีวิต ซึ่งนักวิชาการด้านประสาทวิทยาจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกลักษณะของความคิดนั้นว่าเป็น “อคติทางความคิด” (Cognitive biases) ซึ่งถือว่าเป็นจุดบอดทางจิตใจที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดโดยมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นเรื่องราวในระยะสั้นและลดความสำคัญของผลลัพธ์ในระยะยาว
อคติทางความคิดเช่นนั้นส่งผลให้คนรู้สึกว่าโดยทั่วไปสิ่งต่างๆ จะดำเนินไปอย่างที่เคยเป็นมาตามปกติ และประเมินความเป็นไปได้ต่างๆ ต่ำกว่าเป็นจริง เช่น ไม่ได้คาดมาก่อนว่าจะเกิดการหยุดชะงักอย่างรุนแรงอีกครั้งจากผลกระทบของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นตัวแปรใหม่ของการเกิดเหตุการณ์ และส่งผลต่อการขาดการวางแผนในการเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากตระหนักถึงอันตรายของจุดบอดทางจิตใจแล้วมีการคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนก็จะสามารถตัดสินใจและจัดการกับสถานการณ์ที่เผชิญความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีขึ้น
คำถามที่สำคัญคือ ในฐานะที่เป็นพลเมือง หรือผู้นำองค์กร เมื่อเกิดภาวะการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างรุนแรงอีกครั้ง เราควรจะทำอะไรบ้าง วารสาร Entrepreneur ได้เตรียมคำตอบให้เราแล้ว
ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ตัวเราเองและสมาชิกในครอบครัว สามารถปรับเปลี่ยนแผนในชีวิตประจำวันได้ดังต่อไปนี้
- เตรียมความพร้อมสำหรับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโดยการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยใช้แหล่งข้อมูลออนไลน์
- เตรียมความพร้อมสำหรับการขาดความสามารถในการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินโดยการลดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาด เช่น ลดความถี่ในการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น การจัดเตรียมอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่จำเป็นหรือยาสามัญประจำบ้าน เป็นต้น
- ทำตามขั้นตอนของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดในบ้านเรือนของตนเองจนกว่าจะได้รับวัคซีนครบทุกคน
- ทำงานจากที่บ้านหรือลงทุนในการเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้สามารถทำงานได้จากที่บ้าน
- สื่อสารกับเพื่อนและครอบครัว เกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่และกระตุ้นให้พวกเขาดำเนินการเพื่อป้องกันตนเองจนกว่าจะได้รับวัคซีน
- ปกป้องผู้ที่มีความเสี่ยงให้มากขึ้น เช่น ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวที่มีอายุมากกว่า 60 ปีหรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19
- เตรียมพร้อมด้านจิตใจหากเกิดกรณีโรงพยาบาลมีผู้ป่วยล้นหลามจนอาจจะไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง
ในฐานะผู้นำองค์กร สามารถเตรียมทีมงานของตนเอง ดังต่อไปนี้
- สื่อสารให้ทีมงานทราบเกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่และกระตุ้นให้ทำตามขั้นตอนของรัฐบาลเพื่อปกป้องครอบครัว
- สนับสนุนให้ทีมงานใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิต และเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือโรคระบาด
- ประสานงานกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลเกี่ยวกับวิธีการปรับตัวการทำงานของทีม การฝึกอบรมข้ามสายงาน การทำงานทดแทนกันสำหรับตำแหน่งงานที่สำคัญ
- สับเปลี่ยนให้ทีมงานทำงานจากที่บ้านเท่าที่จะเป็นไปได้
- ทบทวนแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดภาวะการหยุดชะงักและไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้
- เตรียมพร้อมสำหรับการหยุดชะงักครั้งใหญ่ของผู้ให้บริการในธุรกิจของตนเองตลอดจนการหยุดชะงักของการเดินทาง และการประกาศยกเลิกกิจกรรมต่างๆ
- เตรียมการทำตามขั้นตอนดังกล่าวโดยเร็วเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันและเป็นโอกาสที่จะได้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งด้วย
สิ่งที่องค์กรอาจพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไปคือการทบทวนโมเดลธุรกิจเพื่อค้นหาศักยภาพใหม่ๆ ปรับตัวและพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อที่จะก้าวข้ามผ่านสถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อยาวนานออกไปได้จนกระทั่งก้าวสู่จุดหมายใหม่ได้ในที่สุด
ที่มา: 1. https://www.entrepreneur.com/article/363613
2. https://disasteravoidanceexperts.com/how-to-do-a-strategic-pivot-to-address-covid/
Related posts
Tags: business continuity plan, Business disruptions, COVID-19, New Covid strains, Risk Management, Strategic Management
ความเห็นล่าสุด