โรคระบาด COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกมุ่งความสนใจไปที่ระบบสุขภาพมากขึ้นแต่ก็ยากที่จะเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน วันอนามัยโลกในปีนี้ องค์การอนามัยโลกจึงเน้นไปที่เรื่องการลดความไม่เท่าเทียมกันในด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเพื่อฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนในการมีสุขภาพดีอย่างทั่วถึง
ไอเอสโอไม่เพียงแต่มีมาตรฐานจำนวนมากที่มีเป้าหมายในการบริหารจัดการด้านการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนามาตรฐานจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา COVID-19 ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอีกด้วย ซึ่งรวมถึงมาตรฐานสำหรับเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์และปกป้องส่วนบุคคล รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
“มาตรฐาน” ทำให้ทั่วโลกสามารถนำวิธีปฏิบัติตามแนวสากลที่ดีที่สุดไปใช้ร่วมกันได้ “มาตรฐาน” ช่วยให้ประเทศต่างๆ และองค์กรซึ่งมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากการใช้งานตามแนวทางที่ทันสมัยซึ่งผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศได้พิจารณาร่วมกันอย่างรัดกุมแล้ว
มาตรฐานเหล่านั้น ได้แก่ IWA 38, Building guideline of emergency medical facility ซึ่งเป็นเอกสารที่ไอเอสโออยู่ระหว่างการพัฒนา (International Workshop Agreement: IWA) และให้แนวทางวิธีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจสำหรับสถาบันทางการแพทย์ที่มีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเดิมอยู่แล้ว เอกสารดังกล่าวจะทำให้ทั่วโลกมีแนวทางล่าสุดที่อาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการนำไปใช้ป้องกันและควบคุมโรคทางเดินหายใจ
เอกสารดังกล่าว สามารถนำไปใช้เสริมร่วมกับมาตรฐานที่ไอเอสโอกำลังพัฒนาอยู่ ได้แก่ ISO 5472, Standard protocols of walk-through screening stations for infectious disease control ซึ่งมีเป้าหมายในการอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัยและการนำสถานีทดสอบเพื่อติดตามโรคติดเชื้ออย่าง COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิผลซึ่งสามารถช่วยลดจำนวนอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นบางอย่างลงและเพิ่มจำนวนคนไข้ที่เข้ารับการทดสอบหาเชื้อได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดทางวิชาการอีกฉบับหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา COVID-19 ด้วย คือ ISO/TS 5798, Quality practice for detection of Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 (SARS-CoV-2) by nucleic acid amplification methods ข้อกำหนดทางวิชาการฉบับนี้ให้แนวทางการพิจารณาที่จำเป็นด้านการออกแบบ การพัฒนา การทวนสอบ การสอบทวนเพื่อยืนยันความใช้ได้ และการนำไปใช้ของการทดสอบเชิงวิเคราะห์เพื่อติดตามเชื้อ SARS-CoV-2 โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Nucleic Acid Amplification ซึ่งรวมถึงขั้นตอนกระบวนการก่อนการตรวจสอบ และกระบวนการตรวจสอบสำหรับวินิจฉัยชิ้นเนื้อของระบบทางเดินหายใจและรายการทดสอบที่เกี่ยวข้อง
ไอเอสโอยังได้พัฒนา ISO/PAS 45005, Occupational health and safety management – General guidelines for safe working during the COVID-19 pandemic ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ (Publicly available specifications (PAS) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ในรูปแบบ read-only) และไอเอสโอได้ใช้เวลาพัฒนาเพียงสามเดือนเท่านั้นเพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เร่งด่วนและจำเป็นในยุค COVID-19
ข้อกำหนดดังกล่าวไมได้มีเป้าหมายเพียงแค่องค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวบุคคลในกิจกรรมทุกประเภทด้วย เพื่อช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับการปกป้องดูแลสุขภาพตนเอง
มาตรฐานดังกล่าวเป็นเพียงมาตรฐานส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีส่วนสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของวันอนามัยโลก (World Health Day) ในปีนี้ (สร้างโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้นและสุขภาพดียิ่งขึ้น – Building a fairer, healthier world for everyone) ยังมีมาตรฐานไอเอสโอที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหัวข้อการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) อันมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพดีเช่นกัน
มาร่วมกันทำให้โลกของเราเต็มไปด้วยผู้คนที่มีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ช่วยให้โลกมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นด้วยการนำมาตรฐานไอเอสโอไปใช้งาน ไอเอสโอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อมีการจัดการด้านมาตรฐานเกี่ยวกับสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นแล้ว จะทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึงจนกระทั่งสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2653.html
Related posts
Tags: 1. Tag Standardization, COVID-19, Nucleic Acid Amplification, SARS-CoV-2, SDG 3, Standards, World Health Day
ความเห็นล่าสุด