เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2504 (1961) ยูริ กาการิน มนุษย์อวกาศคนแรกของโลกได้ปฏิบัติภารกิจโคจรรอบโลกสำเร็จและกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัย สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 ให้วันที่ 12 เมษายนของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งการบินอวกาศของมนุษย์” หรือ “วันนักบินอวกาศสากล” นั่นเอง
ปี 2564 เป็นปีที่ครบรอบ 60 ปีของเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว นับเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลองความสำเร็จของนาซากับภารกิจของคณะ Expedition 64 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบพลังงานทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอวกาศยาวนานถึง 185 วัน (ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคมถึงวันที่ 16 เมษายน 2564)
บาดรี ยูเนส ผู้จัดการโครงการการสื่อสารและนำร่องอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ยอมรับว่ามาตรฐานสากลอย่างมาตรฐานไอเอสโอเป็นองค์ประกอบที่มีคุณค่ามากสำหรับภารกิจของโครงการด้านอวกาศ ซึ่งเที่ยวบินอวกาศจำเป็นต้องใช้ความแม่นยำขั้นสูงสุดนับตั้งแต่อุปกรณ์ไปจนถึงวิถีของยานและการสื่อสารเริ่มตั้งแต่ออกเดินทางจากพื้นโลกไปยังอวกาศจนกระทั่งเดินทางกลับมายังโลกอีกครั้ง
ไอเอสโอมีมาตรฐานสากลจำนวนมากที่สามารถนำไปใช้กับองค์กรด้านอวกาศทั่วโลกรวมทั้งนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA)
ด้วยเหตุนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับโครงการอวกาศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเป็นต้องมีโครงการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันในอุตสาหกรรมการบินอวกาศ และการสนับสนุนข้ามสายผ่านหน่วยงานด้านอวกาศเพื่อสร้างความร่วมมือเช่นที่คณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับระบบข้อมูลอวกาศ (Consultative Committee for Space Data Systems: CCSDS) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 20, Aircraft and space vehicles คณะอนุกรรมการวิชาการ SC 13, Space data and information transfer systems เพื่อพัฒนาข้อแนะนำเชิงรุกสำหรับมาตรฐานระบบข้อมูลและสารสนเทศ ซึ่งมีการใช้งานมากในภารกิจด้านอวกาศทั่วโลกรวมทั้งนาซ่าทั้งโดยมนุษย์และหุ่นยนต์
บาดรี ยูเนส ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลนี้ว่าภารกิจด้านอวกาศจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลที่ซับซ้อนขั้นสูงสุดจึงจะประสบความสำเร็จได้
ภารกิจด้านอวกาศจำเป็นต้องอาศัยระดับความแม่นยำขั้นสูงสุดในวิถีโคจรและการสื่อสาร เช่น สัญญาณที่ผ่านโดยตรงมายังโลกและผ่านการสะท้อนสัญญาณที่เชื่อมโยงกับยานอวกาศ เป็นต้น มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นมาตรฐานของไอเอสโอ และ CCSDS โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการนำทาง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและมีคุณค่าสูงสำหรับภารกิจขององค์กรด้านอวกาศ
มาตรฐานฉบับหนึ่งในหลายร้อยฉบับของไอเอสโอที่ใช้กันทั่วโลกคือ ISO 19389, Space data and information transfer systems – Conjunction data message มาตรฐานนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถติดตามวัตถุหลายชนิดที่มีอยู่นับพันในวงโคจรบนอวกาศเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ตัวอย่างมาตรฐานอีกฉบับหนึ่งคือ ISO 13537, Space data and information transfer systems – Reference architecture for space data systems ซึ่งมีการใช้โดยทีมออกแบบโครงการและภารกิจเพื่ออธิบายสถาปัตยกรรมของระบบและการออกแบบภายในโดเมนอวกาศ
ซามีอัสมาร์ เลขาธิการ CCSDS และผู้จัดการของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 20/SC 13 ชี้ให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของเที่ยวบินของนักบินอวกาศที่มีต่อทุกชีวิตบนพื้นโลกว่าการค้นพบเกี่ยวกับอวกาศของมนุษยชาติเป็นการนำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมล้ำยุคทางด้านวิทยาศาสตร์หลายเรื่องในสาขาต่างๆ ดังนั้น คณะกรรมการวิชาการจึงพยายามค้นหาเพื่อปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ภารกิจขององค์กรด้านอวกาศกับภารกิจในการพัฒนามาตรฐานด้านอวกาศของไอเอสโอมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ภารกิจดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมต่างๆ มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และเนื่องในโอกาส “วันสากลแห่งการบินอวกาศของมนุษย์” ไอเอสโอจึงได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองและเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศของมนุษยชาติต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2654.html
Related posts
Tags: Aerospace, ISO 13537, ISO 19389, NASA, Space data, Standardization, Standards, trajectory and communications, Yuri Gagarin
ความเห็นล่าสุด