เหลือเวลาไม่ถึง 10 ปีที่โลกของเราจะต้องก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นกับโลกของเราทำให้เราจำเป็นต้องจัดการกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง โดยเป็นที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์ในการที่โลกจะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์
ทางออกที่ดีของเรื่องดังกล่าว คือ “การเงินสีเขียว” หรือการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม การประเมินและการรายงานที่ครอบคลุมและเทียบเคียงได้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นคำตอบที่ดีเช่นกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานใหม่ล่าสุดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564
ISO 14097, Greenhouse gas management and related activities – Framework including principles and requirements for assessing and reporting investments and financing activities related to climate change เป็นมาตรฐานที่ช่วยให้นักการเงินสามารถประเมินผลและรายงานการดำเนินการได้ ตลอดจนเห็นคุณค่าที่แท้จริงของการมีส่วนร่วมในเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
กรอบที่ระบุไว้ในมาตรฐานดังกล่าวมีการระบุหลักการข้อกำหนดและแนวทางที่จำเป็นซึ่งสร้างขึ้นจากแนวทาง “ทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลง” (Theory of change) ซึ่งกำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องมีในการสร้างผลลัพธ์และผลกระทบที่ต้องการในระยะยาว ทฤษฎีนี้ยังอธิบายถึงเส้นทางที่ตั้งใจจะดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทำได้ด้วยการอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ที่นักการเงินกำหนดขึ้นมา ปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่นักการเงินวางแผนไว้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และผลลัพธ์ของปฏิบัติการนั้น รวมทั้งผลลัพธ์สุดท้ายที่จะนำไปสู่ผลกระทบที่ต้องการให้เกิดขึ้นด้วย
ดังนั้น มาตรฐาน ISO 14097 จึงครอบคลุมผลกระทบของการตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ความเข้ากันได้ของการลงทุนและการตัดสินใจทางการเงินกับเส้นทางการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป้าหมายสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงต่อมูลค่าทางการเงินสำหรับเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงิน (เช่นหุ้นเอกชน หุ้นที่จดทะเบียนพันธบัตรเงินกู้) ที่เกิดจากเป้าหมายด้านสภาพอากาศหรือนโยบายสภาพภูมิอากาศ
มาซัมบา ทีโอยี หัวหน้าโครงการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไอเอสโอ (และผู้จัดการแผนกบรรเทาผลกระทบภายในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ UNFCCC ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของไอเอสโอ) เป็นผู้พัฒนามาตรฐานกล่าวระบุว่าการลงทุนทางการเงินสีเขียวมีส่วนช่วยองค์กรทั่วโลกในความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งเพื่อความยั่งยืนกับผลกำไรในระยะยาวของสินทรัพย์ทางการเงิน เขากล่าวว่านักการเงินอาจถอนตัวจากกิจกรรมที่ต้องใช้คาร์บอนเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศได้ แต่หากไม่ร่วมมือกันจัดการกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ก็จะส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ดังนั้น สิ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือนักการเงินสามารถดำเนินการสนับสนุนองค์กรที่ได้รับการลงทุนให้มีส่วนร่วมในการนโยบายการเงินสีเขียวและใช้พลังผลักดันเพื่อส่งเสริมแผนการลงทุนทางการเงินสีเขียวให้เกิดขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือจะสามารถวัดผลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรที่ได้ลงทุนไว้ ซึ่งกุญแจสู่ความสำเร็จในการเงินสีเขียวก็อยู่ที่ความโปร่งใสและการวัดผลนี้เอง และมาตรฐานนี้ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ในเรื่องดังกล่าว
ISO 14097 เป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ ชุดมาตรฐาน ISO 14030 สำหรับการประเมินผลสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมของตราสารหนี้สีเขียว และ ISO 14100 สำหรับการประเมินโครงการทางการเงินสีเขียวรวมทั้ง ISO 14093ซึ่งพิจารณาถึงกลไกในการจัดหาเงินทุนในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มาตรฐานดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยคณะอนุกรรมการไอเอสโอ SC 7, Greenhouse gas management and related activities และคณะอนุกรรมการไอเอสโอ SC 4, Environmental performance evaluation ภายใต้คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207, Environmental management โดยมีเลขานุการคือ คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 207 ซึ่งมีเลขานุการคือ SCC ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศแคนาดา
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2671.html
Related posts
Tags: GHG, Green finance, ISO 14030 series, ISO 14093, ISO 14097, ISO 14100, SDGs, Standardization, Standards, Theory of change, UNFCCC
Recent Comments