เครื่องดื่ม “ชา” เป็นของขวัญอันทรงคุณค่าจากธรรมชาติที่โลกได้มอบไว้ให้มนุษย์เรา และถึงแม้ว่าชาอาจเป็นสาเหตุของปัญหาระบบย่อยอาหารได้ แต่ชาก็มีคุณประโยชน์อย่างมหาศาล
“ชา” ไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่มที่หอมละมุนเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรายได้หลักของบางภูมิภาคอันเป็นผลพวงของการเจริญเติบโตทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจด้วย
สำหรับประเทศต่างๆ ที่ปลูกชาก็มีศักยภาพหรือโอกาสที่จะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน เช่น ในประเทศไทยมีชาที่ได้รับรางวัลระดับโลก เมื่อปี 2563 (รางวัล Gold Prize จากการประกวด The World Green Tea Contest 2020 ประเทศญี่ปุ่น)
“ชา” เป็นเครื่องดื่มที่คนนิยมดื่มมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากกาแฟ และเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้รู้สึกสดชื่นและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดน้ำหนัก และลดความเครียด เป็นต้น
เครื่องดื่มชามีอยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน ชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการบริโภคชา ต่อมาวัฒนธรรมการดื่มชาได้แพร่หลายไปในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น และเมื่อรัฐบาลของประเทศอินเดียได้เสนอต่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2558 (ค.ศ.2015) ให้มีวันชาสากล FAO จึงได้ยอมรับและประกาศให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันชาสากลตั้งแต่ปี 2562(ค.ศ.2019) และในปีต่อมา เป็นปีแรกที่วันชาสากลอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสหประชาชาติ
ในปีนี้ วันชาสากล (International Tea Day 2021) องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์ในหัวข้อ“ ยืดหยุ่น ยั่งยืน และดีต่อสุขภาพ” (Resilient, sustainable and healthy) เพื่อสร้างความตระหนักถึงบทบาทสำคัญของชาสำหรับประเทศที่มีการปลูกชาซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก และช่วยส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน และเนื่องจากในโลกนี้ มี “ชา” อยู่มากมายหลายประเภท ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานชาขึ้นมาเป็นจำนวนมากกว่า 30 ฉบับเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการกำหนดคุณภาพ การวัดเนื้อของชาและสารที่อยู่ในชาให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทางเดียวกัน การกำหนดคาเฟอีนหรือโพลีฟีนอล รวมทั้งคำจำกัดความของชาประเภทต่างๆ เช่น ชาเขียว ชาดำ หรือชาขาว และขั้นตอนการสุ่มตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ชาอู่หลงและชาเขียวหรือมัทฉะด้วย
มาตรฐานใหม่ที่ไอเอสโอเพิ่งประกาศใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้แก่ ISO 18447, Tea – Determination of theaflavins in black tea — Method using high performance liquid chromatography ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการกำหนดธีอะเฟลวิน (theaflavins) ในชาดำ และ ISO 18449, Green tea — Vocabulary ซึ่งกำหนดข้อกำหนดในการจำแนกและประเมินชาเขียวสำหรับการค้าโดยพิจารณาจากลักษณะกลิ่นและรสชาติ
มาตรฐานสากลสำหรับชาดังกล่าว ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/ TC34, Food products คณะอนุกรรมการ SC8, Tea และมีเลขานุการคือ BSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหราชอาณาจักร
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2674.html
2. https://pr.mfu.ac.th/pr-news-list/pr-dept-news/detail/News/7818.html
Related posts
Tags: black tea, FAO, green tea, International Tea Day, ISO, ISO 18447, ISO 18449, matcha, theaflavins, UN
Recent Comments