การฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศของเราเป็นหัวข้อในการรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลกใน 2564 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศขององค์การสหประชาชาติ ในขณะที่ไอเอสโอยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนไปสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูด้วยมาตรฐานและการริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน
ความยากจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นเพียงความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงบางส่วนที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมบนโลกของเรา และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องช่วยกันเดินสวนทางกับแนวโน้มความสูญเสียนั้น
คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 331, Biodiversity ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อไม่นานมานี้ ตระหนักดีว่าการกระตุ้นความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ จึงได้ดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานที่สามารถช่วยให้องค์กรและรัฐบาลทุกประเภทมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ
ขอบข่ายงานมาตรฐานของคณะกรรมการดังกล่าวครอบคลุมคำศัพท์และนิยาม วิธีการสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบ กรอบสำหรับการกำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ เครื่องมือติดตามและรายงาน และแนวทางเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพที่เฉพาะเจาะจง เช่น วิศวกรรมนิเวศวิทยา แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใช้ธรรมชาติและเทคโนโลยีจากธรรมชาติเป็นพื้นฐาน
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) เป็นองค์กรประสานงานในคณะกรรมการไอเอสโอด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และได้พัฒนามาตรฐานสากลที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งรวมถึงเกณฑ์และชนิดของหลักการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มาตรฐานสากลสำหรับการระบุด้านความหลากหลายทางชีวภาพหลัก และมาตรฐานที่ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาจากธรรมชาติ
ดร.โธมัส บรู๊คส์ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ IUCN กล่าวว่าเขามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับไอเอสโอเพื่อพัฒนามาตรฐานสากลสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ และเชื่อว่าจังหวะเวลาเช่นนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่จะสนับสนุนกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกหลังปี 2563 (ค.ศ.2020)
ส่วนเลขาธิการไอเอสโอมีความเห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ การใช้ประโยชน์จากที่ดินและสปีชีส์มากเกินไปได้กัดกร่อนความหลากหลายทางชีวภาพลงโดยมีผลกระทบต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น เกิดภัยธรรมชาติ และการกระจายอาหารและน้ำอย่างไม่เท่าเทียมไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของแต่ละบุคคลอาจช่วยได้ แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความแตกต่างได้อย่างแท้จริงคือการทำงานร่วมกันในระดับระหว่างประเทศซึ่งมาตรฐานไอเอสโอสามารถเป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้นได้โดยวิธีการทำงานที่ตกลงร่วมกันซึ่งองค์กรและรัฐบาลทุกแห่งสามารถได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพในวาระทางการเมืองที่มากขึ้น
การฟื้นฟูระบบนิเวศยังจำเป็นต้องใช้การลงทุนจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าต้องใช้เงินหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐหากเราต้องบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไอเอสโอได้ทำงานเพื่อชุดมาตรฐานใหม่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างปลอดภัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐาน ISO 14097, Greenhouse gas management and related activities – Framework including principles and requirements for assessing and reporting investments and financing activities related to climate change (การจัดการก๊าซเรือนกระจกและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง – กรอบการทำงาน รวมถึงหลักการและข้อกำหนดสำหรับการประเมินและการรายงานการลงทุนและกิจกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งช่วยให้นักการเงินสามารถการประเมินและรายงานการปฏิบัติงาน และมองเห็นมูลค่าที่แท้จริงของการมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
มาตรฐานนี้สามารถนำไปใช้เสริมกับมาตรฐานอื่นๆ ในชุดข้อมูลนี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนารวมถึงชุดมาตรฐาน ISO 14030สำหรับการประเมินสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมของตราสารหนี้สีเขียว ISO 14100 สำหรับการประเมินโครงการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ISO 14093 ซึ่งเป็นกลไกสำหรับการจัดหาเงินทุนในท้องถิ่น การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ไอเอสโอยังมีมาตรฐานอีกหลายร้อยมาตรฐานที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรับปรุงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ISO 14001 เกี่ยวกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้มาตรฐานเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อของสหประชาชาติทั้งหมดได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 13 (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) SDG 14 (การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชีวิตใต้น้ำ) และ SDG 15 (การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก)
ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ใด ก็สามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศได้ ในฐานะองค์กร เราสามารถนำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือการลดก๊าซเรือนกระจกไปใช้ และในฐานะปัจเจกบุคคล เราสามารถลงมือทำบางอย่างด้วยตัวเอง เช่น ลดการใช้พลังงาน นำสิ่งของมาใช้ซ้ำหรือส่งไปทำซ้ำ ปลูกต้นไม้ และสนับสนุนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2564 มาร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกับนานาประเทศทั่วโลกเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2676.html
Related posts
Tags: Biodiversity, ecosystem, greenhouse gas, ISO 14030, ISO 14093, ISO 14097, ISO 14100, IUCN, SDGs, Standardization, Standards, Sustainability
Recent Comments