บทความ เรื่อง มาตรฐานไอเอสโอกับแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตอนที่ 1ได้กล่าวถึงความจำเป็นของโลกในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีแห่งพลังงานสะอาดและดำเนินการตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งการดำเนินการนั้นจะเป็นไปไม่ได้หากขาดมาตรฐานไอเอสโอ เนื่องจากมาตรฐานสากลบางประเภทสามารถส่งเสริมกลุ่มพลังงานหมุนเวียนได้ เช่นมาตรฐานพลังงานหมุนเวียนด้านประสิทธิภาพ และมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเปาโล แฟรงค์ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรหมุนเวียนของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้กล่าวถึงมาตรฐานเหล่านั้นและในบทความในครั้งนี้ จะกล่าวถึงมาตรฐานอีกประเภทหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน รวมทั้งเรื่องของแนวทางการใช้พลังงานไฟฟ้า และการรวมระบบพลังงานอื่นเข้าด้วยกันที่ส่งเสริมความยั่งยืน ดังต่อไปนี้
ISO 14020, Environmental labels and declarations – General principles เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการฉลากและประกาศด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นมาตรฐานที่ควรค่าแก่การนำไปใช้ มาตรฐานอีกฉบับหนึ่งคือ ISO 14025, Environmental labels and declarations – Type III environmental declarations – Principles and procedures
เป็นมาตรฐานที่กำหนดวิธีมาตรฐานในการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือระบบตลอดวงจรชีวิต กล่าวคือ ตั้งแต่การผลิตจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นกลางและขั้นสุดท้ายรวมถึงตอนสิ้นสุดอายุการใช้งาน
ในโลกธุรกิจ จะมีแรงผลักดันครั้งใหญ่สำหรับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นจากผู้ใช้มาตรฐานไอเอสโอรายใหญ่ การกล่าวอ้างถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานของตนเองจะทำให้บริษัทต่างๆ รับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำการผลิตและขาย ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริโภค ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเงินก็ต้องการทราบผลกระทบของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการด้วย
เปาโล แฟรงค์กล่าวว่าในการก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์สามารถประสบความสำเร็จ เรายังต้องการมาตรฐานใหม่ๆ มาสนับสนุนด้วย เช่น มาตรฐานสำหรับการรวมระบบ เรามีวิธีการหลายวิธีในการทำให้การรวมระบบระหว่างแหล่งพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และภาคการบริโภคที่แตกต่างกันสามารถประสบความสำเร็จได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับอย่างเห็นพ้องต้องกันในระดับสากลจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
ในขณะที่วิกฤต COVID-19 ได้สร้างแรงบันดาลใจให้โลกของเราดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น พลังงานหมุนเวียนก็เป็นแหล่งเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตดังกล่าว และยังมีโอกาสสูงที่จะเติบโตด้วย แตกต่างจากพลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์ที่ทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงหดตัวลง ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นความต้องการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2563 (ค.ศ.2020) ในขณะที่ความต้องการพลังงานโดยรวมของโลกลดลง 4% ซึ่งเป็นการลดความต้องการด้านพลังงานลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดจะมีความเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ในขณะที่พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ความร้อนหมุนเวียนยังคงค่อนข้างคงที่ แสดงให้เห็นแนวโน้มที่สังเกตได้สองประการ ประการแรกคือการลดลงของพลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเนื่องจากความต้องการที่ลดลง สิ่งนี้ถูกชดเชยด้วยความต้องการความร้อนที่เพิ่มขึ้นในอาคารเพราะคนจำนวนมากอยู่แต่ในบ้าน นอกจากนี้ เป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษที่เราได้เห็นการลดลงครั้งใหญ่ในเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการขนส่ง ซึ่งลดลง 8% ในปี 2563 เนื่องจากความต้องการน้ำมันเบนซินและดีเซลลดลง
เปาโล แฟรงค์ กล่าวต่อไปว่าเส้นทางสู่การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์นั้นจำเป็นต้องมีการปรับใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ในปีหน้า (2565/ค.ศ.2022) จะมีการรวมระบบที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ผันแปรได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม และไม่เพียงแต่พลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังมีการพิจารณาด้านอื่นด้วย เช่น การจัดการด้านอุปสงค์ และการจัดเก็บรักษาพลังงานในราคาประหยัด การที่จะก้าวไปสู่เปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษนี้แล้ว เช่น การผลิตแบตเตอรี่และไฮโดรเจนซึ่งสามารถจัดเตรียมพื้นที่จัดเก็บที่จำเป็นอันเป็นองค์ประกอบสำคัญภายในระบบที่มีความยืดหยุ่นมากและเป็นระบบที่กว้างขึ้นเพื่อรวมเอาพลังงานหมุนเวียนที่ผันแปรได้ไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องของความร้อนซึ่งเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีการใช้งานปลายทางที่มีประสิทธิภาพสูงร่วมกับการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยตรง ตัวอย่างเช่น ปั๊มความร้อนประสิทธิภาพสูงที่มีความร้อนใต้พิภพหรือความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง จำเป็นต้องมีนวัตกรรมเพื่อให้มีการทำงานที่ดีและคุ้มค่า
ความท้าทายในอีกด้านหนึ่งคือ พลังงานชีวภาพที่มุ่งเน้นการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเหลวที่ยั่งยืนจากของเสียและสิ่งที่ตกค้างจากของเสียเพื่อใช้ในภาคการขนส่ง โดยเฉพาะการบิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันง่ายที่สุดเพราะทุกคนเห็นด้วยว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบน้อยกว่าเรื่องอื่น และกำลังมีการเร่งผลิตไฮโดรเจนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนด้วย
โดยสรุปแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการรวมระบบของพลังงานแสงอาทิตย์และลม การใช้ความร้อนหมุนเวียนโดยตรง หรือการผลิตพลังงานชีวภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการขนส่งเท่านั้น แต่ยังใช้ในอุตสาหกรรมและวัสดุชีวภาพด้วย
สุดท้ายแล้ว แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือการสำรวจวิธีการใช้ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำร่วมกับเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนพลังงานทั่วโลกในการปฏิบัติตามแนวทางปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบที่ส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเป็นศูนย์พร้อมๆ กับการนำมาตรฐานไอเอสโอที่ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนไปใช้งานด้วย
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2682.html
Related posts
Tags: clean energy, COP 26, COVID-19, IEA, ISO 14020, ISO 14025, Net Zero, Renewable Energy, Standardization, Standards
Recent Comments