การจัดวางระบบบริหารงานเพื่อการประกันคุณภาพ เป็นแนวคิดสำคัญของ ISO 9001 ทำให้เชื่อมั่นว่ากระบวนการต่างๆ ได้รับการควบคุมและสามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านระบบที่ระบุขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน โดยมีการฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน มีการจดบันทึกข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในระบบ มีการแก้ไขข้อผิดพลาดและมีแนวทางในการป้องกันข้อผิดพลาดเดิม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการทำความเข้าใจกับองค์กรและบริบทองค์กร ความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อใช้สำหรับการดำเนินการกับความเสี่ยงและโอกาส รวมทั้งข้อกำหนดอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่ช่วยให้องค์กรสามารถมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
เช่นเดียวกับมาตรฐานไอเอสโอทุกฉบับ ISO 9001 ผ่านการทบทวนและตรวจสอบอย่างเป็นระบบทุกๆ 5 ปีเพื่อตัดสินใจว่ายังคงใช้ได้หรือจำเป็นต้องปรับปรุง เพื่อยันยันว่ามาตรฐานยังคงมีความเกี่ยวข้องทั่วโลกและตรงตามความต้องการของผู้ใช้อยู่เสมอ
สำหรับการทบทวนในครั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบคือ คณะอนุกรรมการวิชาการ SC 2, Quality systems ซึ่งดำเนินการภายใต้คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 176, Quality management and quality assurance ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการหารือกับสมาชิกคณะกรรมการและการสำรวจผู้ใช้ ISO 9001 ผลลัพธ์คือไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขใดๆ และ ISO 9001: 2015 ยังคงให้คุณค่าแก่ผู้ใช้มาตรฐานมากพอๆ กับเมื่อได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2015
การดำเนินงานพิเศษภายใต้คณะกรรมการวิชาการดังกล่าวจะยังคงมีการประเมินและตรวจสอบตลาดที่เป็นไปได้หรือการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐาน และจะเสนอการแก้ไขเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องดำเนินการ
ผู้ใช้งานมาตรฐานไอเอสโอจึงมั่นใจได้ว่า ISO 9001: 2015 ที่ประกอบด้วยหลักการบริหารคุณภาพ 8 ประการ ยังคงเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ
ผู้สนใจมาตรฐานสากลฉบับอื่นหรือต้องการทราบข่าวสารเกี่ยวกับไอเอสโอเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ https://www.iso.org/home.html
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2685.html
Related posts
Tags: ISO 9001: 2015, Quality assurance, Quality Management, Quality systems, Standardization, Standards
ความเห็นล่าสุด