บทความเรื่อง “พลังงานชีวมวล” จุดเชื่อมต่อของวิกฤตสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงเรื่องของการใช้พลังงานชีวมวลซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้บรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์รวมทั้งมาตรฐานไอเอสโอที่จะมีส่วนช่วยเช่นกัน โดยมอริส ดูแอกสมาชิกของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 238, Solid biofuels ได้ให้ความเห็นว่าพลังงานชีวภาพมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำให้บรรลุเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยเหตุนี้ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแข็งเพื่อจุดประสงค์ในการทำความร้อนในอวกาศ การจ่ายน้ำร้อน การผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจึงเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก สำหรับบทความในตอนนี้ จะกล่าวถึงเรื่องของมาตรฐานเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
นอกเหนือจากเรื่องของความยั่งยืนแล้ว มาตรฐานไอเอสโอยังมีส่วนช่วยในการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจด้วย เอยา อาลากังงัส จากประเทศฟินแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของ ISO/TC 238 กล่าวว่ามาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจและสนับสนุนในด้านกฎหมาย ซึ่งเกณฑ์ความยั่งยืนได้ระบุไว้สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแข็ง เช่น ในกฎหมายของยุโรป
เอยา อาลากังงัสได้ใช้เวลาถึง 34 ปีกับการทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญเชื้อเพลิงชีวภาพที่ศูนย์วิจัยทางเทคนิคแห่งฟินแลนด์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและได้เป็นผู้นำเครือข่ายเศรษฐกิจชีวภาพของยุโรปมาเป็นเวลา 10 ปี และได้ทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานในช่วงเวลานี้
คำถามคือ เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นของแข็งมีประโยชน์ต่อธุรกิจและนวัตกรรมอย่างไร เศษไม้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นของแข็งในท้องถิ่นและใช้ในการติดตั้งขนาดเล็ก การใช้เศษไม้เป็นการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเพิ่มการเลือกตัดไม้โดยเลือกตัดไม้ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นออกไปเพื่อช่วยให้ต้นไม้ที่เหลือมีโอกาสเจริญเติบโตอย่างเต็มที่รวมทั้งช่วยป้องกันไฟป่าด้วย
มาตรฐานสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแข็ง เช่น ชุดมาตรฐาน ISO 17225 จะช่วยส่งเสริมการใช้เศษไม้ และไม่มีการนำไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่มาใช้เพื่อสร้างพลังงาน ในขณะที่โรงผลิตเยื่อกระดาษใหม่มีการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน 100% เช่น เศษไม้
ISO 17225, Solid biofuels – Fuel specifications and classes ระบุปริมาณความชื้นที่ยอมให้มีได้สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแข็ง ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในเวลาต่อมา เช่น การสุ่มตัวอย่างเชื้อเพลิงชีวมวลโดยอัตโนมัติและการวัดปริมาณความชื้น
ปริมาณความชื้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแข็ง ซึ่งชุดมาตรฐาน ISO 17225 ได้ระบุข้อกำหนดด้านคุณภาพสำหรับเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยรับประกันการเผาไหม้ที่สะอาดสำหรับเทคโนโลยีแต่ละประเภท นอกจากนี้ เมื่อมาตรฐานไอเอสโอระบุต้นกำเนิดและแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ก็จะช่วยส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืนด้วย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวลเชิงพาณิชย์ไม่ได้เรื่องง่ายเท่าใดนัก มอริส ดูแอก สมาชิกของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 238, Solid biofuels กล่าวว่าในความคิดของเขา มีความท้าทายหลักอยู่ 2 ประการ ประการแรก ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเชื้อเพลิงชีวภาพมีความโดดเด่นอย่างชัดเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในแง่ของประสิทธิภาพการเผาไหม้ที่เพิ่มขึ้น มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปล่อยก๊าซคาร์บอน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่และปรับปรุงเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ให้ได้
ประการที่สอง ต้องมีการแสดงให้เห็นอย่างน่าเชื่อถือว่าเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแข็งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการวิเคราะห์วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่ดินหรือการใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ และมีระเบียบวิธีที่เชื่อถือได้ในการคำนวณสมดุลคาร์บอนเพื่อกำหนดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแม่นยำและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ธรรมาภิบาลแบบองค์รวมก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพโดยรวมของป่าไม้ที่ยั่งยืนมากขึ้น และเกณฑ์สำหรับความยั่งยืนของพลังงานชีวภาพจากป่าไม้ต้องอาศัยมาตรฐานที่ดี ซึ่งคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ ISO/TC 287, Sustainable processes for wood and wood-based products ได้กล่าวถึงความยั่งยืนจากมุมมองที่กว้างขึ้น รวมถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยมีเป้าหมายคือการวางตำแหน่งของอุตสาหกรรมป่าไม้ให้อยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
พลังงานชีวมวลจึงจุดเชื่อมต่อของวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่จะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การบรรลุเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนให้โลกของเราต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2680.html
Related posts
Tags: bioeconomy, Fuel specification, ISO 17225, JRC, Solid biofuels, Standardization, Standards, Supply Chain, Sustainability
ความเห็นล่าสุด