โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเมืองอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะจึงควรให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเครือข่ายถนนและการจัดการจราจร รวมทั้งการจัดการความเร็วของการขนส่งสาธารณะ และการที่จะทำเช่นนี้ได้ เมืองต้องมีบทบาททั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันจัดการอย่างโปร่งใส เช่น การลงทุนในระบบการขนส่งอัจฉริยะและต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในเมืองด้วย
เมืองอัจฉริยะเป็นเมืองที่ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับปรับปรุงคุณภาพชีวิตสำหรับผู้อยู่อาศัยด้วย วิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้คือการจัดการความเร็วของการขนส่งสาธารณะอย่างชาญฉลาด ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ไอเอสโอได้เผยแพร่มาตรฐานใหม่ที่เมืองต่างๆ สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการได้ตลอดทั้งกระบวนการ
มาตรฐานใหม่นั้นคือ ISO 37167, Smart community infrastructures – Smart transportation for energy saving operation by intentionally driving slowly ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนอัจฉริยะในด้านการคมนาคมอัจฉริยะที่ใช้เพื่อการดำเนินการประหยัดพลังงานโดยใช้วิธีการจัดการความเร็วของการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ใช้พลังงานน้อยลงในขณะที่ยังคงวิ่งตรงเวลา มาตรฐานนี้ให้คำแนะนำที่ครอบคลุมรถไฟ รถประจำทาง รถบรรทุก และเรือข้ามฟาก
ดร.ฮิโรยูกิ ซาคาอิ ผู้ประสานงานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนามาตรฐานดังกล่าว ระบุว่ารูปแบบต่างๆ ของการขนส่งสาธารณะและการขนส่งสินค้ามีปัจจัยหลายประการ ซึ่งหากจัดการอย่างถูกต้อง จะมั่นใจได้ว่าใช้พลังงานน้อยที่สุดในขณะที่ยังคงปฏิบัติงานได้ตามเวลาที่กำหนดไว้
ดร.ฮิโรยูกิ ซาคาอิ กล่าวว่าเราต่างทราบกันดีว่าการเร่งความเร็วและการชะลอตัวในระดับสูงต้องใช้พลังงานมากกว่าการก้าวไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ในขณะที่ยังคงสามารถไปถึงจุดหมายในเวลาเดียวกันด้วยและเมื่อมีการจัดตารางเวลาของการขนส่งสาธารณะอย่างระมัดระวังและมีการจัดการความเร็วแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะประหยัดพลังงานได้มาก ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง รวมทั้งผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ราบรื่นมากขึ้นด้วย จึงเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนมีแต่ได้กับได้
มาตรฐานนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรฐานที่ช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถให้บริการขนส่งอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ประการของสหประชาชาติ รวมถึงพลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (SDG 7: Affordable and clean energy) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9: Industry, Innovation and Infrastructure) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11: Make cities inclusive, safe, resilient, and sustainable) และการดำเนินการด้านสภาพอากาศ (SDG 13: Climate action)
ISO 37167 ได้รับการพัฒนาโดยคณะอนุกรรมการไอเอสโอ SC 1, Smart community infrastructures ของคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 268, Sustainable cities and communities โดยมีเลขานุการคือ JISC ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น
ผู้สนใจมาตรฐานดังกล่าวสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: 1. https://www.iso.org/news/ref2699.html
2. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1361920916306228
Related posts
Tags: Energy saving, Financial Costs, Infrastructure, ISO 37167, Smart Community, Smart Transportation, Speed management, Standardization, Standards, Sustainability
Recent Comments