การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การปิดพรมแดน สายการบินหยุดให้บริการ ไปจนถึงการปิดตัวลงเป็นเวลาหลายเดือนของสถานประกอบการหลายแห่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพยายามที่จะฟื้นตัวในบริบทใหม่นี้ กฎระเบียบและข้อบังคับก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ไม่อาจทำงานได้ง่ายแต่กลับมีความซับซ้อนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างระมัดระวังในระหว่างที่ยังคงให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวในภาวะที่วิกฤตโรคระบาดใหญ่ยังไม่สิ้นสุด ท่ามกลางการจัดการกับความกังวลและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ภาคส่วนการท่องเที่ยวในทุกประเทศสามารถฝ่าฟันอุปสรรคดังกล่าวไปได้ ไอเอสโอจึงได้พัฒนาแนวทางระหว่างประเทศที่ช่วยให้สามารถดำเนินการได้ในภาวะที่ COVID-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสามารถรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยที่สุด และด้วยขอบเขตที่กว้างของแนวทางระหว่างประเทศ จึงช่วยให้ผู้ให้บริการทั้งหมดในภาคส่วนนี้ (เช่น ที่พัก พิพิธภัณฑ์ การคมนาคมขนส่ง ประสบการณ์ กิจกรรม และมัคคุเทศก์ เป็นต้น) สามารถให้บริการที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส
สำหรับภาคการท่องเที่ยวกับผลกระทบของวิกฤตการโรคระบาดใหญ่ นาตาเลีย ออร์ทิซ เดอ ซาราเท ผู้จัดการคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอด้านการท่องเที่ยว (ISO/TC 228) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตต่อภาคส่วนต่างๆ และวิธีที่มาตรฐานไอเอสโอจะสามารถช่วยฟื้นฟูความมั่นใจและสร้างอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืนและยืดหยุ่นมากขึ้นดังต่อไปนี้
จากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศน้อยกว่าหนึ่งพันล้านคนในปี 2563 (ค.ศ.2020) ทำให้เกิดการสูญเสีย GDP มากถึง 10% ในหลายประเทศ นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกก็ลดลงอย่างมาก ทำให้ตำแหน่งงาน 120 ล้านตำแหน่งตกอยู่ในความเสี่ยง และไม่ต้องพูดถึงเรื่องการส่งออกกับการล่มสลายของการเดินทางระหว่างประเทศซึ่งแสดงถึงการสูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้นระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 (UNWTO, 2021) ถึง 11 เท่า
ตัวอย่างเช่น สเปนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 19 ล้านคนเมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) เทียบกับ 83 ล้านคนในปี 2562 (ค.ศ.2019) จากสถานประกอบการที่พักนักท่องเที่ยวมากกว่า 16,000 แห่ง และการจ้างงานเกือบ 600,000 คน แต่ในช่วงล็อกดาวน์มีเพียงสองสามร้อยคนที่ยังคงปฏิบัติงานที่มีความจำเป็นระหว่างการเปิดให้บริการ เนื่องจากภาคส่วนส่วนใหญ่ประกอบด้วย SMEs ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นมักจะน้อย จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องกันไปเหมือนทฤษฎีโดมิโน
นาตาเลีย ออร์ทิซ เดอ ซาราเท กล่าวว่าฟังดูแล้วอาจจะดูน่าหวาดหวั่นไปสักหน่อยแต่จะมีความหวังเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่ ถึงแม้ว่าจะมีแผนการฉีดวัคซีน ซึ่งมีความคืบหน้าไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของประเทศต่างๆ แต่แนวโน้มโดยรวมของการฟื้นตัวในปี 2564 ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้นเนื่องจากรูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการเปิดตลาดท่องเที่ยวบางแห่ง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวกลางแจ้งและเชิงธรรมชาติ ซึ่งการท่องเที่ยวภายในประเทศและประสบการณ์ การเดินทางอย่างช้า ๆ ที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นไปในเชิงบวกอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่คาดหวังว่าจะได้เห็นการกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดเกิดขึ้นก่อนปี 2566 (ค.ศ.2023) แล้วอะไรคือความท้าทายที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่นี้
การมี “ภาษากลาง” สำหรับทั่วทั้งภาคส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ การประสานมาตรการจากภูมิภาคหนึ่งไปยังอีกภูมิภาคหนึ่ง จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จะช่วยแบ่งเบาภาระทั้งสำหรับผู้ให้บริการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและสำหรับนักท่องเที่ยวเอง เพราะผู้คนต้องการเดินทางและเริ่มวางแผนอีกครั้ง แต่ก็ต้องการความมั่นใจในแง่ของสภาพการเดินทางและความปลอดภัยที่ปลายทาง และนี่คือสิ่งที่เอกสารไอเอสโอ ISO/PAS 5643, Tourism and related services – Requirements and guidelines to reduce the spread of COVID-19 in the tourism industry ได้จัดเตรียมไว้แล้ว
เอกสาร ISO/PAS 5643 เป็นเอกสารการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่กระจายของ COVID-19 ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับสากล เอกสารข้อกำหนดที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ (PAS) นี้เป็นแนวทางง่ายๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจการท่องเที่ยวทุกแห่งปรับตัวเข้ากับวิถีนิวนอร์มอลหรือความปกติใหม่เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างปลอดภัย
การระบาดใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นโอกาสในการทบทวนการท่องเที่ยวในอนาคต เพื่อเตรียมแผนรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
สำหรับคำถามที่ว่าความไว้วางใจในหมู่พนักงาน ซัพพลายเออร์ และลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญในการเปิดบริการด้านการท่องเที่ยวอีกครั้ง ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร มาพบกับคำตอบที่น่าสนใจในบทความครั้งต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2694.html
Related posts
Tags: COVID-19, ISO/PAS 5643, Pandemic, safety, Standardization, Standards, Tourism Industry, Travelling
Recent Comments