ในปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากต้องรวมตัวกันจับเจ่าอยู่แต่ในบ้านของตนเองและมีข้อจำกัดในการเดินทางเนื่องจากอยู่ในช่วงล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่จวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายคนโหยหาชีวิตที่มีอิสระมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงธรรมชาติได้ง่าย ได้มีโอกาสไปพักผ่อนนอนดูดาว และใช้ชีวิตในสภาพอากาศที่อบอุ่นแสนสบาย คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่มีคนที่พักอาศัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจอร์แดนใกล้กับเมืองโบราณที่ชื่อว่า “เพตรา” กลับใช้ชีวิตอย่างอิสระเช่นนั้นได้ในถ้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก สถานที่แห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหน้าผาหินทรายสีชมพูทางตอนใต้ของจอร์แดน
“เมืองเพตรา” ได้ชื่อว่าเป็นนครศิลาสีกุหลาบที่แกะสลักขึ้นจากภูเขาทั้งลูก และน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบัน การท่องเที่ยวของสถานที่แห่งนี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโรคระบาด COVID-19 ก่อนหน้านี้ ชาวเบดูอินที่เคยหาเลี้ยงชีพจากการท่องเที่ยวหลายพันคนมารวมตัวกันทุกวันที่เมืองเพตรา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านกาแฟ เจ้าของลาและอูฐ หรือคนขายเครื่องประดับ รายงานในหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ได้เน้นย้ำว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหายนะที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กในภูมิภาคนี้
เมืองเพตราเป็นเพียงตัวอย่างของธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอี 99% ของธุรกิจทั้งหมดในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เป็นเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง MSMEs ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ คนที่อยู่ในภาคส่วนนี้มีตั้งแต่พ่อค้า ช่างทำผม คนทำงานอิสระ ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการซื้อขายหลายล้านเหรียญสหรัฐ บางรายมีพนักงานมาก แต่บางคนก็มีลูกจ้างไม่ถึง 10 คน
ในการสัมมนาผ่านเว็บซึ่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีร่วมกันเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 (ค.ศ.2020) สเตฟาน คลิงเบียล ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย UNDP แห่งกรุงโซลได้กล่าวถึงเอสเอ็มอีว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนผลผลิต การจ้างงาน และกระแสเงินทุนของประเทศ
สเตฟาน คลิงเบียล กล่าวว่าการปลดปล่อยศักยภาพของภาคเอกชนจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีเอสเอ็มอี แต่ความท้าทายระดับโลกอย่างวิกฤต COVID-19 ก็ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการดำรงชีวิต ซึ่งต้องมีการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้
ในช่วงเวลาที่คาดเดาไม่ได้และไม่แน่นอนเช่นนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็กก็ต้องแข่งขันกัน แต่โอกาสสำหรับ MSME จำนวนมากทั่วโลกนั้นดูจะค่อนข้างอึมครึมมาก รายงานของ OECD เกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ต่อเอสเอ็มอีพบว่า นับจากภาวะที่ยากลำบากในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่เป็นเวลาหนึ่งปีให้หลัง พวกเขายืนอยู่ในตำแหน่งที่ล่อแหลมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทอายุน้อยและสตาร์ทอัพ รวมทั้งธุรกิจอิสระ
ประเด็นดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำในการประชุมสุดยอด Global Technology Governance Summit ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เมื่อเดือนเมษายน 2564 ก่อนเกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ เอสเอ็มอีในประเทศ OECD คิดเป็น 99% ของธุรกิจทั้งหมด คิดเป็น 60% ของการจ้างงาน และสูงถึง 60% ของมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ ถึงอย่างนั้นก็ดี เมื่อเกิดวิกฤติ ธุรกิจเหล่านี้ก็ยังไม่อาจใช้ศักยภาพให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ได้
แล้วเราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงการเงินและการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจ MSMEs เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดได้อย่างไร หากเราได้เรียนรู้บทเรียนอย่างหนึ่งจากปีที่ผ่านมา บทเรียนนั้นคือต้องมีการทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันและสร้างความสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ และนี่คือคือเหตุผลที่ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐาน ISO 44003 ขึ้นมาเพื่อช่วยในการจัดการความสัมพันธ์ทางธุรกิจร่วมกัน และเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการดำเนินการตามหลักการพื้นฐานเมื่อเดือนเมษายน 2564
มาตรฐานISO 44003, Collaborative business relationship management – Guidelines for micro, small and medium-sized enterprises on the implementation of the fundamental principles เป็นมาตรฐานการจัดการความสัมพันธ์ทางธุรกิจร่วมกันซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับองค์กรขนาดเล็ก ขนาดเล็ก และขนาดกลางเกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักการพื้นฐาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าเป็นมาตรฐานที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี รายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้าง โปรดติดตามได้ในครั้งต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2706.html
Related posts
Tags: Collaborative business relationship management, COVID-19, ISO 44003, Jordan, Micro SME, MSMEs, OECED, Pandemic, Petra, SME, standard, Standardization, Tourism
ความเห็นล่าสุด