“การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นอาวุธของผู้แข็งแกร่ง” เป็นวาทะของมหาตมะคานธีซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้กับประเทศอินเดีย และด้วยการใช้หลักอวิหิงสาหรือความไม่เบียดเบียนนี้เอง จึงทำให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรง และการเอาชนะด้วยสันติ ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2550 องค์การสหประชาชาติก็ได้ประกาศให้วันที่ 2 ตุลาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด มหาตมะ คานธี เป็นวันสากลแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง (International Day of Non-Violence)
อันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวเนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงว่าวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะนำไปสู่ยุคใหม่แห่งสินติภาพ ความไว้วางใจ และความอดทน และเขาได้ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วันนั้นตรงกับวันคล้ายวันเกิดเกิดของมหาตมะ คานธี ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการเพื่อเอกราชของอินเดียและเป็นผู้ก่อตั้งหลักการไม่ใช้ความรุนแรง
อันโตนิโอ กูแตเรส กล่าวต่อไปว่าสำหรับคานธี การไม่ใช้ความรุนแรง การประท้วงด้วยสันติอย่างมีศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมกันเป็นมากกว่าคำพูด สิ่งนี้เป็นเหมือนแสงนำทางสำหรับมนุษยชาติสู่อนาคตที่ดีกว่า
เขายังชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นต้นแบบเพื่อเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ลำบากในปัจจุบันอย่างความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่ไว้วางใจและการแบ่งแยก ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้เงาของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งยังคงทำลายล้างผู้คนและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเลขาธิการสหประชาชาติย้ำว่าการแก้ปัญหาเหล่านั้นอยู่ในมือของมนุษยชาติซึ่งต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
กูแตเรสกล่าวว่าการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกหมายถึง การรวมตัวกันเป็นครอบครัวมนุษยชาติเพียงหนึ่งเดียว และโอบรับสันติภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เขาพร้อมเรียกร้องให้ผู้คนที่ยังสู้รบกันอยู่ทั่วโลกวางอาวุธลงและมุ่งเน้นไปที่การเอาชนะศัตรูร่วมของมนุษยชาติซึ่งก็คือ COVID-19 นั่นเอง
กูแตเรสเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งมอบวัคซีนและการรักษาและช่วยชีวิต ตลอดจนสนับสนุนประเทศต่างๆ เพื่อก้าวเดินในเส้นทางอันยาวไกลเพื่อการฟื้นฟูในอนาคต และความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำและยุติความยากจน รวมทั้งการสร้าง แผนปฏิบัติการระดับโลกที่กล้าหาญเพื่อดูแลรักษาโลก โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือมนุษยชาติต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สิ่งนี้เองจะเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่ยุคใหม่ของสันติภาพและความมั่นคงของมนุษย์ต่อไป
ที่มา: https://news.un.org/en/story/2021/10/1102022
Related posts
Tags: Climate Change, COVID-19, Environment, International Day of Non-Violence, Mahatma Gandhi, Management Strategy, Peace, SDGs, Strategic Management, Sustainability, UN
ความเห็นล่าสุด