จากการประชุม COP26 ซึ่งเป็นการประชุมตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นที่ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม แดเนียล ทริลลอส ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานที่มีชื่อเสียงระดับระหว่างประเทศในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าข้อมูลและวิธีการคำนวณและการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่สม่ำเสมอจะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเป้าหมายด้านสภาพอากาศ
โชคดีที่มาตรฐานสากลยังคงมีอยู่ซึ่งเป็นตัวแทนของฉันทามติทั่วโลกและเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งมีความคิดเห็นตามคำแนะนำของเลขาธิการสหประชาชาติว่าจะใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นศูนย์สุทธิ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเรียกร้องของซิลวิโอ ดูลินสกี้ รองเลขาธิการไอเอสโอ ในงาน COP26 เช่นกัน เขาสนับสนุนการใช้มาตรฐานสากลร่วมกันและเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรฐานการวัดและการรายงานที่สร้างขึ้นโดยผู้นำของโลกและทำการพัฒนาผ่านฉันทามติของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
แดเนียล ทริลลอส รองประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคของไอเอสโอด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวในการประชุม COP26 ผ่านการประชุม International Chamber of Commerce Forum ในหัวข้อ “Building a net-zero and resilient Economy – The development role of International Standards” เขากล่าวว่าหากโลกเราต้องการลดการปล่อยคาร์บอนจริง ๆ เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีความคลาดเคลื่อนอย่างมากระหว่างข้อมูลที่รายงานกับข้อมูลจริงตามรายงานข้อมูลที่วอชิงตันโพสต์ได้เน้นย้ำไว้ เพราะถ้าเราไม่ทราบสถานะของการปล่อยมลพิษที่แท้จริงในปัจจุบัน เราก็จะไม่รู้ว่าเรากำลังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างมีความหมายและเป็นสาระสำคัญหรือไม่
ดังนั้น ทุกองค์กร ทุกประเทศจำเป็นต้องมีความเท่าเทียมกัน โดยใช้วิธีการเดียวกันในการรายงานกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่มีความสอดคล้องเช่นนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีข้อมูลที่แม่นยำเพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน เป้าหมาย และพิจารณาว่าสิ่งใดใช้ได้ผลและไม่ได้ผล ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศอย่างชัดเจน
ไอเอสโอมีมาตรฐานที่สามารถทำให้เกิดความคงเส้นคงวาได้ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานชุด ISO 14060 เกี่ยวกับการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการตรวจสอบความถูกต้องและการตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรฐาน ISO 14097 ซึ่งมีกรอบการทำงานสำหรับการประเมินและการรายงานการลงทุนและกิจกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คณะกรรมการการจัดการสิ่งแวดล้อมของไอเอสโอประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายร้อยคนจากกว่า 120 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้นำระดับโลกจากภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานและด้านอื่นๆ คณะกรรมการฯ ได้พัฒนามาตรฐานจำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดระเบียบและประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานไอเอสโอในสาขานี้ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกเนื่องจากเป็นตัวแทนของฉันทามติและความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทริลลอสกล่าวในท้ายที่สุดว่า เพียงแค่ทั่วโลกดำเนินการตามฉันทามติดังกล่าวเท่านั้นก็จะสามารถจัดการกับความท้าทายระหว่างประเทศอย่างการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
การรายงานการปล่อยมลพิษที่มีความสม่ำเสมอตามหลักการทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายภูมิอากาศ และทั่วโลกจำเป็นต้องนำมาตรฐานหรือวิธีการที่ตกลงกันในระดับสากลไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อร่วมกันกู้วิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2746.html
Related posts
Tags: Climate Change, COP26, International standards, ISO 14060 Series, ISO 14097, Net Zero, standard, Standardization, UNFCCC
Recent Comments