ปัจจุบัน เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอไอมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์มหาศาลต่อสังคม ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบในทางลบด้วย ดังนั้น มาตรฐานระบบการจัดการจึงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับทุกคน
จากข้อมูลของ PwC หรือไพร้ซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส พบว่าในการที่จะปลดล็อกศักยภาพของเอไอได้อย่างเต็มรูปแบบ เอไอจะต้องช่วยให้องค์กรต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 40% ภายในปี 2578 (ค.ศ.2035) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ GDP โลก จึงเป็นโอกาสทางการค้าที่ดีที่สุดในตอนนี้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ผู้นำต้องคิดต่าง และไม่อาจละเลยการนำเทคโนโลยีเอไอไปประยุกต์ใช้โดยใช้มาตรฐานระดับโลกเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้เทคโนโลยีเอไอย่างมีความรับผิดชอบ และมาตรฐานเหล่านี้จะต้องจัดการกับสถานการณ์ของธุรกิจ B2C และ B2B อย่างมีคุณค่าด้วย นี่คือสิ่งที่เจสัน มาทูโซว์ ผู้จัดการทั่วไปของกลุ่มมาตรฐานองค์กรแห่งไมโครซอฟต์กล่าวถึงมาตรฐานเทคโนโลยีเอไอ
เขาเชื่อว่าการผลิตและการนำมาตรฐานสากลเอไอไปใช้จะช่วยให้เกิดแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเชื่อถือได้ ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค B2B และหน่วยงานกำกับดูแล เพราะเอไอจะเพิ่มความสามารถของมนุษย์และเปิดประตูสู่โอกาสใหม่มหาศาลสำหรับทุกอุตสาหกรรม และยังช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จมากขึ้นในชีวิตประจำวันของด้วย
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นระบบดิจิทัลไปหมด
การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้หยั่งรากลึกในระดับโลก และสิ่งต่างๆ จะถูกแปลงให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเมื่อโลกยอมรับความสามารถในการแปลงข้อมูล มีรายงานใหม่จากสภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) ระบุว่าภายในปี 2022 GDP โลกราว60% จะเป็นเรื่องของระบบดิจิทัล แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ ราวสามปีจะเกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้นระหว่างเศรษฐกิจดิจิทัลกับเศรษฐกิจทั่วไป หรือระหว่างสังคมดิจิทัลและสังคมทั่วไป
AI กำลังทำงานอยู่เบื้องหลังชีวิตประจำวันของเราอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับเครื่องยนต์เจ็ทและบริการทางการเงิน ไปจนถึงการปรับปรุงการการจราจรในเมืองอัจฉริยะ ล้วนแล้วแต่ใช้ประโยชน์จากโอกาสของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนี้ ประโยชน์ต่อสังคมและปัจเจกบุคคลนั้นกว้างใหญ่ไพศาลมากจนไม่อาจกล่าวถึงผลในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของเอไอชัดเจนขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ปลอดภัยหรือผิดจรรยาบรรณของเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัว และการกำกับดูแลข้อมูลล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของเอไอที่ต้องมีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ถูกเน้นย้ำในวาระดาวอส ซึ่งจัดโดย WEF เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำเอไอมีความรับผิดชอบ แพลตฟอร์มดังกล่าวไขข้องสงสัยให้กับโลกว่ากำลังมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร โดยเน้นว่าหากขาดความเห็นพ้องต้องกันจากทั่วโลกแล้ว จะทำให้เกิดการฉุดรั้งการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างเร่งด่วนและไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
การวัดผลกระทบของเอไอในมุมมองของมนุษย์
ในเรื่องการสร้างความไว้วางใจ สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอหลายคน การสร้างหน่วยงานที่ไว้วางใจจะทำให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสมากขึ้น กุญแจสำคัญคือการเริ่มต้นด้วยมาตรฐานเอไอที่มีความรับผิดชอบ หัวใจสำคัญของงานนี้คือคณะอนุกรรมการวิชาการ SC 42, Artificial intelligence ซึ่งผลลัพธ์สูงสุดคือการสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเอไออย่างมีจริยธรรม
การทำงานภายใต้ ISO/IEC JT 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไอเอสโอและไออีซีหรือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission: IEC) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ กำลังคืบหน้าไปสู่มาตรฐานที่ล้ำสมัย ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วก็จะทำให้เกิดต้นแบบในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่พร้อมสำหรับเอไอ แนวทางระบบการจัดการนี้มีการกำหนดการควบคุม แผนการตรวจสอบ และแนวทางที่เฉพาะเจาะจงซึ่งสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กำลังเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีงานที่ยังต้องทำอีกมาก จากข้อมูลของสถาบันเอไอนาว (AI Now) ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งอ้างอิงตามอัตราการยอมรับเอไอในปัจจุบัน มีเพียงอเมริกาเหนือ ยุโรป และจีนเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจประมาณ 80% และเหลือเพียง 20% สำหรับ 2 ใน 3 ที่เหลือของประชากรโลก หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป ผู้คนหลายพันล้านคนก็จะพลาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและโลกก็จะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาที่ดีขึ้น ถึงเวลาต้องเตรียมพร้อมรับวัฒนธรรมเอไอแล้วหรือยัง
บทความในครั้งต่อไปมาจะเล่าสู่กันฟังว่าเราต่างกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาที่ต้องเตรียมพร้อมรับวัฒนธรรมเอไออย่างจริงจัง และเราควรทำอย่างไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีที่รวดเร็วเช่นนี้
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2763.html
Related posts
Tags: Artificial Intelligence, B2B, B2C, Digital, Ethics, GDP, IEC, ISO, Power Now, PwC, standard, Standardization, WEF
Recent Comments