บทความ MASCIInnoversity เรื่อง “ก้าวทันโลจิสติกส์ยุคนิวนอร์มอลด้วยมาตรฐานใหม่ ISO 23354 ตอนที่ 1” ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นมากมายทั่วโลกพร้อมๆ กับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้นในยุคนิวนอร์มอล และสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถจัดการกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซได้ก็คืออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรฐานสากลในการช่วยจัดการการสร้างซัพพลายเชนอัจฉริยะระดับโลก และการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน ซึ่งจะกล่าวถึงมาตรฐานดังกล่าวในบทความในตอนที่ 2 ดังต่อไปนี้
สำหรับโครงสร้างของโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงถึงกันและมีความซับซ้อนนั้น สามารถตัดความซับซ้อนได้โดยใช้มาตรฐานสากล เกี่ยวกับเรื่องนี้ หงหรู จูดี้ ซู หัวหน้าแผนกมาตรฐานของกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ซึ่งเคยเป็นประธานของ ISO/TC 154 ซึ่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคของไอเอสโอที่จัดการกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า กล่าวว่า ประโยชน์ของการใช้มาตรฐานไอเอสโอในด้านโลจิสติกส์นั้นมีความชัดเจนคือ มาตรฐานไอเอสโอสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ และสร้างภาษาที่ใช้ร่วมกันสำหรับผู้เข้าร่วมในตลาดทั้งหมด
มาตรฐาน ISO 23354, Business requirements for end-to-end visibility of logistics flow เป็นข้อกำหนดทางธุรกิจสำหรับการมองเห็นโฟลว์ของโลจิสติกส์ตั้งแต่ต้นจนจบ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยอิงตามแบบจำลองข้อมูลเชิงความหมายของศูนย์การอำนวยความสะดวกทางการค้าและธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์แห่งสหประชาชาติ (UN/CEFACT) โดยเฉพาะแบบจำลองข้อมูลอ้างอิงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (MMT-RDM) ได้ออกแบบมาเพื่อลดต้นทุนการเชื่อมต่อระหว่างระบบบริการข้อมูลโลจิสติกส์ (Logistics Information Service Systems: LISS) กับผู้ใช้ที่ต้องการข้อมูลด้านโลจิสติกส์ดังกล่าว
มาตรฐานนี้ได้กำหนดข้อกำหนดทางธุรกิจ 3 ประการสำหรับการมองเห็นโฟลว์การจราจรของโลจิสติกส์ ดังนี้ ประการแรก ข้อกำหนดสถาปัตยกรรมเครือข่าย LISS ประการที่สอง ข้อกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลการมองเห็นระหว่าง LISS และประการที่สาม อินเตอร์เฟสข้อมูลการมองเห็นและข้อกำหนดของกระบวนการสำหรับเครือข่าย LISS
ซูเล่าว่าสิ่งที่ดีเยี่ยมเกี่ยวกับมาตรฐานนี้ คือผู้ใช้สามารถรับข้อมูลที่ได้รับจาก Port Community Systems ต่างๆ ผ่านอินเตอร์เฟสมาตรฐานเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับระดับการเข้าถึงข้อมูลนั้น ในทางปฏิบัติ เป็นเรื่องยากที่จะสร้างกระแสข้อมูลแบบครบวงจรเนื่องจากโซลูชันทางเทคนิคที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้และรูปแบบข้อมูลที่หลากหลายซึ่งจัดเตรียมโดยระบบบริการข้อมูลด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ข้อมูลร้องขอข้อมูลคอนเทนเนอร์ แต่การตอบสนองจากระบบข้อมูลโลจิสติกส์ของสองระบบจะไม่สอดคล้องกันในรูปแบบเดียว
การทำให้ข้อมูลโฟลว์
การมองเห็นด้านโลจิสติกส์ต้องมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และนี่คือเหตุผลที่ระบบบริการข้อมูลด้านโลจิสติกส์พยายามผลักดันข้อมูลสถานะเหตุการณ์ที่มีค่าและเป็นมาตรฐานมากขึ้นสำหรับผู้ใช้ข้อมูลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ผู้ใช้ข้อมูลควรสามารถเข้าถึง PCS (Port Community System) ต่างๆ ผ่านอินเตอร์เฟสแบบรวมศูนย์ได้ด้วย
นี่คือที่มาของ ISO 23355 ซึ่งมาตรฐานในอนาคตจะมุ่งสร้างการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเครือข่าย LISS และตอบสนองความต้องการของผู้ให้บริการข้อมูลและผู้ใช้ที่แตกต่างกัน มาตรฐานนี้ยังอิงตาม UN/CEFACT MMT-RDM อีกด้วย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้โดยผู้ให้บริการข้อมูลด้านโลจิสติกส์ เช่น PCSs, CCSs, ระบบขนส่งสินค้า เป็นต้น หน่วยงานด้านโลจิสติกส์และผู้ใช้งานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ก็จะสามารถใช้มาตรฐานได้ เพื่อติดตามโฟลว์ของโลจิสติกส์และเพิ่มประสิทธิภาพบริการ
ซูกล่าวต่อไปว่า ต้นทุนการพัฒนาการเข้าถึงควรลดลงผ่านอินเตอร์เฟสมาตรฐาน และระบบบริการข้อมูลโลจิสติกส์ควรให้ข้อมูลที่มีค่าด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ด้วยวิธีนี้ ความเข้าใจผิดในข่าวสารข้อมูลจะลดลง วิธีแก้ปัญหาทั่วไปคือการส่งมอบและแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกด้วยวิธีที่มีการควบคุมและปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่บริษัทสมัยใหม่หันมาใช้มาตรฐานไอเอสโอ
สำหรับ ISO 23354 และ ISO 23355 ได้รับการพัฒนาโดยใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาทางอุตสาหกรรม รากฐานที่สนับสนุนมาตรฐานเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มองเห็นได้ ซึ่งพัฒนาร่วมกับ UN/CEFACT กับสมาชิกจาก Northeast Asia Logistics Information Service Network (NEAL-NET), International Port Community Systems Association (IPCSA) และ National Port Community Systems Association (IPCSA) แพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ (LOGINK) ในประเทศจีน ในขณะเดียวกัน การไหลของข้อมูลอย่างอิสระก็ได้รับความช่วยเหลือจากความคิดริเริ่มของ IPCSA ซึ่งเป็นโครงการ Network of Trusted Networks ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การลดความซับซ้อนของข้อตกลงข้ามพรมแดนและการเจรจาค่าธรรมเนียม
อนาคตของโลจิสติกส์
ผลกระทบที่ส่งต่อถึงกันและสะท้อนไปตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดในช่วงการระบาดของ COVID-19 ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเชื่อมต่อถึงกันมากกว่าที่เคยเป็นมา โดยเน้นไปที่การพึ่งพาเทคโนโลยีของเราเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีการปรับเปลี่ยนที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบต่อลูกค้าให้เหลือน้อยที่สุด
หลายเดือนผ่านไปแล้ว ดูเหมือนว่าพฤติกรรมอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่จะคงอยู่ตลอดไป ผู้ค้าปลีกจะยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพของการตลาดออนไลน์และแนวทางการขาย ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าใหม่ ตอนนี้ ได้เวลาปลดล็อกศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานดิจิทัลอย่างเต็มที่ และเป็นเวลาที่การจัดการด้านโลจิสติกส์มีความสำคัญมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมาตรฐานไอเอสโอนี้เองจะช่วยให้บริษัทต่างๆ ขยายธุรกิจได้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและส่งมอบคุณค่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2767.html
Related posts
Tags: CCSs, COVID-19, IPCSA, ISO, ISO 23354, ISO 23355, LISS, LOGINK, Logistics, MMT-RDM, New Normal, PCSs, standard, Standardization, Transportation, UN/CEFACT
ความเห็นล่าสุด