MASCIInnoversity เคยนำเสนอบทความเรื่อง “ไอเอสโอก้าวล้ำไปกับมาตรฐานด้านอวกาศ” มาแล้ว ล่าสุดไอเอสโอได้ปรับปรุงเอกสารรายงานทางวิชาการที่ช่วยให้ระบบอวกาศสามารถหลีกเลี่ยงการปะทะกันของวัตถุในวงโคจรบนอวกาศให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ตามปกติ วัตถุหลายพันชิ้นที่โคจรรอบในอวกาศไม่ว่าจะเป็นเวลาใด มีโอกาสที่จะโคจรมาชนกันได้ วัตถุในอวกาศจึงจำเป็นต้องมีขั้นตอนที่ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการชนกันได้ ซึ่งไอเอสโอได้พัฒนารายงานทางวิชาการที่ให้คำแนะนำสำหรับการรักษาพื้นที่บนอวกาศให้ปลอดภัยจากการโคจรมาชนกันของวัตถุได้
ISO/TR 16158, Space systems – Avoiding collisions among orbiting objects เป็นรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับระบบอวกาศ ที่จัดให้มีการหลีกเลี่ยงการชนกันระหว่างวัตถุที่โคจรอยู่ด้วยวิธีการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ที่ใช้ดาวเทียมเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมในอวกาศได้มีการใช้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รายงานฉบับนี้อธิบายถึงเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจำนวนหนึ่งสำหรับการรับรู้การเข้าใกล้อย่างใกล้ชิด การประมาณความน่าจะเป็นของการชนและการเอาตัวรอด รวมทั้งการดำเนินการหลบหลีกเพื่อหลีกเลี่ยงการชน
รายงานทางเทคนิคดังกล่าวเพิ่งได้รับการแก้ไขเมื่อเดือนตุลาคม 2564 (จากฉบับปี 2556) เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ด้วยการเพิ่มข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการชนและการหลีกเลี่ยงที่เป็นไปได้
อองเดร ลาครัวซ์ ผู้ประสานงานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนาแนวทางดังกล่าว ยอมรับว่าจำนวนดาวเทียมและวัตถุอื่นๆ ที่โคจรไปทั่วได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการใช้งานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นเช่น โทรคมนาคม ความมั่นคงแห่งชาติ และวิทยาศาสตร์อวกาศ เป็นต้น
การจราจรบนอวกาศก็เป็นไปเช่นเดียวกับการจราจรบนทางหลวง คือจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างราบรื่นเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ รายงานทางเทคนิคนี้จึงระบุขั้นตอนการทำงานที่จำเป็นเพื่อให้การจราจรบนอวกาศเป็นไปอย่างปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนดด้านข้อมูลสำหรับงานเหล่านี้และเทคนิคที่สามารถใช้ในการประเมินความเป็นไปได้ที่การชนกันจะเกิดขึ้นและต้องทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น
ISO/TR 16158 ได้รับการพัฒนาโดยคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอ ISO/TC 20, Aircraft and space vehicles คณะอนุกรรมการไอเอสโอ ISO/TC20/SC14, Space Systems and operation โดยมีเลขานุการคือ คือ ANSI ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากห้องสมุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของไอเอสโอ ISO Store
ที่มา: https://www.iso.org/news/ref2768.html
Related posts
Tags: ANSI, ISO/TR 16158, Orbiting objects, safety, Space systems, standard, Standardization
ความเห็นล่าสุด