การที่มนุษย์เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและอุปสรรคต่างๆ ทำให้มีเป้าหมายวาระ 2030 ร่วมกันนั้น องค์การสหประชาชาติได้กล่าวว่าพวกเราเสมือนได้ลงเรือลำเดียวกันในการเดินทางร่วมกันครั้งใหญ่นี้ จึงได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และจากการที่ตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญ จึงหวังที่จะเห็นเป้าหมายและเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถบรรลุในทุกชนชาติ ทุกกลุ่ม และทุกภาคส่วนของสังคม โดยพยายามอย่างถึงที่สุดในการส่งประโยชน์ไปยังถึงคนที่รั้งท้ายสุดก่อน
วาระ 2030 เป็นวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2558 (ค.ศ.2015) เพื่อยุติความยากจนและทำให้โลกอยู่บนเส้นทางแห่งสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และโอกาสสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่มีการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวระหว่างไอเอสโอและองค์การสหประชาชาติได้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2490 (ค.ศ.1947) ด้วยการนำมาตรฐานไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาระดับโลก
ทาเทียน่า วาโลวายา อธิบดีประจำสำนักงานสหประชาชาติที่เจนีวา (United Nations Office at Geneva: UNOG) ให้ความสำคัญกับความร่วมมือดังกล่าวรวมทั้งการใช้มาตรฐานสากลเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ตามวาระ 2030
เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ประการนั้นเป็นสาระสำคัญของวาระ 2030 ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงอันยิ่งใหญ่และการดำเนินการที่มีความทะเยอทะยานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเงิน เศรษฐกิจ และการเมืองที่ควบคุมสังคมของเราในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจในอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน
อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอด SDG ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2563 (ค.ศ.2020) และรายงานส่วนเสริมได้เปิดเผยว่าความพยายามระดับโลกจนถึงปัจจุบันอย่างไรเสียก็ยังไม่เพียงพอ ความคืบหน้าก็ทำนองเดียวกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามที่กำหนดไว้ สรุปว่าโลกของเราไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายระดับโลกภายในปี 2030 ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการบรรลุคำมั่นสัญญาของวาระการประชุมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต
ปัจจุบัน นักเรียนมากกว่า 1.6 พันล้านคนต้องออกจากโรงเรียน และผู้คนหลายสิบล้านต้องทนทุกข์กับความยากจนและความอดอยากอย่างรุนแรง ตอนนี้ โควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กำลังคุกคามชีวิตและการดำรงชีวิตของคนอีกมากมาย ทำให้การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ยากขึ้น และจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างเร่งด่วนมากขึ้น
พันธมิตรรวมใจเป็นหนึ่ง
ขณะที่โลกยังคงหมุนไปภายใต้การคุกคามของ COVID-19 การหยุดชะงักครั้งใหญ่ในโลกที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการดำเนินธุรกิจ การหยุดชะงักเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจนโดยผู้นำระดับโลกเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถคาดการณ์และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงรอบตัวได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทาเทียน่า วาโลวายาได้เน้นย้ำว่าโรคระบาดทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายระดับโลกที่เราต้องหาทางแก้ไขระดับพหุภาคีในระดับโลก
กระบวนทัศน์พหุภาคีนิยมนี้ก่อให้เกิดความต้องการมาตรฐานระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น บทบาทในการเปลี่ยนแปลงระดับโลกนี้คืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขาเสนอเครื่องมือสำเร็จรูปของโลกเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น การนำผู้เล่นหลักต่างๆ มารวมกันภายใต้มาตรฐานไอเอสโอเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางพหุภาคีที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการบรรลุวาระ 2030
วาโลวายาเองก็เป็นผู้ให้การสนับสนุนพหุภาคีอย่างแข็งขัน ในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนและเข้มข้นยิ่งในปัจจุบัน เธอกล่าวว่าการมีเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN SDGs) ได้เรียกร้องให้มีความร่วมมือมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากผู้คนจำเป็นต้องมองดูความท้าทายระดับโลกที่ซับซ้อนผ่านมิติต่างๆ มากมาย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้องต่างๆ เพื่อเร่งให้เกิดความคืบหน้า เธอเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาระดับประเทศเพียงลำพังจะไม่ได้ผล
สิ่งที่ทาเทียน่า วาโลวายา ให้ความสำคัญคือลัทธิพหุภาคีรูปแบบใหม่ด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งซึ่งกินเวลายาวนานมาหลายทศวรรษ โดยไอเอสโอและองค์การสหประชาชาติได้กระชับความสัมพันธ์ร่วมกันตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดก็มีความจำเป็นต้องเร่งให้เกิดผลลัพธ์ของวาระ 2030 ให้ได้มากที่สุด ทั้งสององค์กรจึงกำลังทำงานเพื่อเร่งความก้าวหน้าให้สู่ความสำเร็จรวมทั้งการเร่งให้เกิดนวัตกรรมที่ใหญ่ขึ้นและโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนที่มากขึ้น
รวมกันเราอยู่ โดดเดี่ยวไม่ใช่คำตอบ
วาโลวายากล่าวว่าการระบาดใหญ่ได้มีส่วนผลักดันให้การแก้ปัญหาระดับนานาชาติกลายเป็นจุดสนใจ และแสดงให้เราเห็นว่าโลกเราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างแท้จริง ความโดดเดี่ยวย่อมไม่ใช่คำตอบ เราจำเป็นต้องค้นหาวิธีการแก้ปัญหาระดับโลกจริงๆ เพราะวิธีแก้ปัญหาระดับประเทศจะใช้ได้เพียงแค่ระยะหนึ่ง แต่จะไม่ได้ผลในระยะยาว สิ่งที่โรคระบาดกำลังบอกเราจริงๆ คือ เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ร่วมกันเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการที่เหมาะสม และวิธีประสานงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การระบาดใหญ่ได้ผลักดันการแก้ปัญหาระดับนานาชาติให้กลายเป็นจุดสนใจ วาโลวายาได้ยกตัวอย่างว่าในขณะที่การล้างมือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการชะลอการแพร่เชื้อ แต่ผู้คนราว 4.2 พันล้านคนหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ความท้าทายนี้ทำให้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มีต่อน้ำดื่มที่ปลอดภัยและการสุขาภิบาลสำหรับผู้คนหลายพันล้านคน เธออธิบายว่าการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ปลุกให้โลกตื่นขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเราไม่สามารถทำอะไรได้มากนักภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้น ทางออกเดียวก็คือต้องทำให้สิ่งที่เรามีอยู่เพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นซึ่งไอเอสโอถือว่าเป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติที่สำคัญ เช่นการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำ ซึ่งจะกล่าวถึงมาตรฐาน ISO 46001 ในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: 1. https://bit.ly/3IcODOC
2. https://www.iso.org/news/ref2777.html
Related posts
Tags: Agenda 2030, COVID-19, Economy, Health, ISO, Multilateralism, SDGs, Society, Standardization, Standards, Sustainability, UN, UNOG
Recent Comments