บทความ MASCIInnoversity เรื่อง วาระ 2030 เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของวาระ 2030 หรือวาระเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ทันเวลาท่ามกลางความท้าทายของการระบาดใหญ่ที่ยังคงส่งผลต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอยู่เช่นทุกวันนี้
ไอเอสโอและองค์การสหประชาชาติได้มีความร่วมมือแก้ไขปัญหาของโลกก่อนที่จะเกิดวาระ 2030 มาอย่างยาวนานโดยผลักดันให้มีการนำมาตรฐานมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาเทียน่า วาโลวายา อธิบดีประจำสำนักงานสหประชาชาติที่เจนีวา (United Nations Office at Geneva: UNOG) ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการใช้มาตรฐานสากลมาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังได้ระบุว่าการแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อจำกัดทำให้เราต้องทำให้สิ่งที่มีอยู่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น ซึ่งไอเอสโอถือว่าเป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติที่สำคัญ เช่นการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำ อันเป็นมาตรฐานที่ไอเอสโอได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและจะได้กล่าวในรายละเอียดดังต่อไปนี้
หัวข้อเรื่องน้ำและประสิทธิภาพการใช้น้ำเป็นหัวข้อสำคัญ ปัจจุบันประกอบด้วยมาตรฐานมากกว่า 1,000 รายการ ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐาน ISO 46001, Water efficiency management systems – Requirements with guidance for use ซึ่งเป็นระบบการจัดการประสิทธิภาพน้ำที่เป็นข้อกำหนดพร้อมคำแนะนำสำหรับการใช้งาน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้องค์กรทุกขนาดและทุกสถานะมีประสิทธิภาพการใช้น้ำมากขึ้น มีวิธีการและเครื่องมือสำหรับการประเมินและบัญชีสำหรับการใช้น้ำ ตลอดจนวิธีการระบุ และดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน มาตรฐานเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนโดยตรงต่อ SDG 6 (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) ซึ่งสร้างความมั่นใจว่ามีความพร้อมและการจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน
ทาเทียน่า วาโลวายา อธิบายว่า โลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เผชิญกับความท้าทายระดับโลก จริงๆ แล้ว จำเป็นต้องมีการดำเนินการร่วมกันทั่วโลก เธอกล่าวว่าปัญหาระดับโลกในปัจจุบันทำให้มีการตัดสินใจเร็วขึ้นและเกิดการสร้างฉันทามติในสังคมต่างๆ
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไอเอสโอทำคือการประสานแนวทางต่างๆ ให้เป็นแนวทางเดียวกันเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสามารถต่อสู้ได้ด้วยมาตรฐานเท่านั้น เนื่องจากมีมาตรฐานจำนวนมากที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเฉพาะด้านเป็นมิตรกับสภาพอากาศมากขึ้น
ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า 900 มาตรฐานซึ่งมีส่วนโดยตรงต่อ SDG 13 ในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และองค์กรยังคงมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมสุดยอดกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคี (COP) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานในการเปิดตลาดโลกสำหรับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวปฏิบัติเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว
มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมยังช่วยให้รัฐบาลและองค์กรสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุดมาตรฐานนี้ได้รับการยอมรับว่าจำเป็นสำหรับตลาดก๊าซเรือนกระจก (GHG) สำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอน การลดคาร์บอนและขาย การแลกเปลี่ยน การชดเชยเครดิต และกลยุทธ์และนโยบายคาร์บอนต่ำ มาตรฐานทำให้ไอเอสโอมีเครื่องมือที่ดีมากในการใช้กลยุทธ์สำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ วาโลวายาเชื่อมั่นว่าแผนงานสำหรับปี 2573 (ค.ศ.2030) มาตรฐานไอเอสโอได้ให้ตัวบ่งชี้ที่เราต้องพิจารณาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
ต้องไม่ทิ้งผู้หญิงไว้ข้างหลัง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบมากขึ้นต่อประชากรในภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต และผู้ที่ต้องตอบสนองต่อภัยธรรมชาติโดยตรง เช่น พายุเฮอริเคน น้ำท่วม หรือภัยแล้ง ผู้หญิงมักเผชิญกับความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสถานการณ์ที่ขาดแคลน คนจนส่วนใหญ่ในโลกยังคงรวมถึงผู้หญิง นอกจากนี้ การเป็นตัวแทนที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจและตลาดแรงงานทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
การส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นเป้าหมายหลักของ SDG 5 ซึ่งวาโลวายาในฐานะสตรีคนแรกของสำนักงานสหประชาชาติที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีในกรุงเจนีวา เชื่อมั่นว่าการจัดการกับความรับผิดชอบทางเพศจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกที่เท่าเทียมกัน เธอเน้นย้ำว่าในขณะที่มีความพยายามระดับโลกในการบรรลุ SDG 5 แต่อุปสรรคก็ยังคงมีอยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และโลกเราต้องการมาตรฐานที่คำนึงถึงเรื่องนี้
ไอเอสโอได้ร่วมกับหลายองค์กรเพื่อลงนามในประกาศ “2019 Declaration on Gender Responsive Standards and Standards Development” ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรปเมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) ดังนั้น ไอเอสโอจึงแสดงความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในการพัฒนาและการนำมาตรฐานสากลไปปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เน้นการรวมกลุ่มและความหลากหลาย วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนามาตรฐานที่ให้ความสมดุลระหว่างเพศชายและเพศหญิง เปิดโอกาสให้ทั้งคนทั้งสองเพศสามารถทำงานด้านมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน
ความรับผิดชอบและความร่วมมือที่โลกต้องมีร่วมกัน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้รู้ว่าเราควรร่วมมือกันอย่างไร เช่น การเป็นพหุภาคีร่วมกันซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างรัฐสมาชิกและรัฐบาล ภาคประชาสังคม ธุรกิจ เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทำให้ต้องมีโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งหมด การประสานงานระดับระหว่างประเทศในเรื่องดังกล่าวสามารถเป็นพลังสนับสนุนในการพัฒนามนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป
ทุกวันนี้ เรากำลังเผชิญหน้าและแบ่งปันความท้าทายระดับโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้เห็นว่ายังมีช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อีก เช่น ภัยพิบัติจาก COVID-19 ได้ทำให้เกิดการผลิตเทคโนโลยีและอุปกรณ์ช่วยเหลือมนุษย์เป็นจำนวนมาก รวมถึงช่องว่างที่สำคัญในการออกแบบการกำกับดูแลของโลก ซึ่งโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายระดับโลกจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบและความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันต่อไป
ที่มา: 1. https://bit.ly/3IcODOC
2. https://www.iso.org/news/ref2777.html
Related posts
Tags: Agenda 2030, COVID-19, Economy, Gender Equality, Health, ISO, Multilateralism, SDGs 5, Society, Standardization, Standards, Sustainability, Technology, UN, UNOG
ความเห็นล่าสุด