ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน ธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างความคุ้นเคยกับคำว่า Y2K หรือ Y2K bug เป็นอย่างดี ช่วงเวลานั้น ผู้คนทุกวงการต่างวิตกกังวลว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 โลกเราอาจจะเกิดความวุ่นวายหรือการหยุดชะงักได้จากความผิดพลาดของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสหัสววรษใหม่จากปี ค.ศ.1999 เป็นปี ค.ศ.2000 สำหรับความหมายของ Y2K ก็คือ Year 2000 (K เป็นหน่วยวัดค่าในระบบเมตริก มีค่าเท่ากับ 1000) ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะเข้าใจว่า ปี ค.ศ.2000 คือปี ค.ศ.1900 อย่างไรก็ตาม ด้วยความร่วมมือของคนทั่วโลก ทำให้สามารถแก้ไขปัญหานั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ประสบการณ์เช่นนั้นจึงถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามาก
นอกจากธุรกิจอุตสาหกรรมจะไม่เกิดการหยุดชะงักหรือการล่มสลายในวงกว้างอย่างที่คาดการณ์กันแล้ว ยังดำเนินต่อไปด้วยดี โดยเฉพาะในช่วงหลายเดือนของสหัสวรรษใหม่ มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาก และเป็นไปตามรายงานของไอเอ็มเอฟหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF: International Monetary Fund) ซึ่งคาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคหลักทั้งหมดของโลก โดยมีเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล
ในขณะนั้น อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และไม่มีวี่แววว่าจะก้าวเข้ายุคดิจิทัลได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ในขณะที่โลกเชื่อมต่อถึงกันเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างรวดเร็ว และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และควอนตัมคอมพิวเตอร์ โลกเราก็กลับมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่ได้เตรียมตัวไว้เลยซึ่งก็คือ การระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 ล้านคน การว่างงานจำนวนมาก และการล็อกดาวน์ระดับประเทศแบบเปิดๆ ปิดๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสให้ได้ ทำให้การค้าระหว่างประเทศเกิดการหยุดชะงัก ผู้คนเกิดความวิตกกังวล และเข้าใจถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับการกระจายของไวรัสวายร้ายนี้ไปทั่วโลก
ตามรายงานของบริษัทวิจัย Capital Economics ที่มีฐานการทำงานอยู่ที่กรุงลอนดอน มีการคาดการณ์ว่าการหยุดชะงักที่เกิดจาก COVID-19 จะหยุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเมื่อปี 2552 มาแล้ว การคาดการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกสะเทือนใจนี้สะท้อนโดยธนาคารโลกซึ่งกล่าวว่าเศรษฐกิจโลกได้มุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ธนาคารโลกกล่าวว่าประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาการค้าโลก การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และการจัดหาเงินทุนจากภายนอกเป็นอย่างมาก และการระบาดใหญ่นี้เองส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งส่งผลกระทบอย่างหนักในประเทศที่มีระบบการรักษาพยาบาลที่ยังไม่เข้มแข็งพอ
ข้อมูลล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ระบุว่าพอจะเริ่มเห็นความหวังของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศจีน แต่ ดร.มูคิซา คิตูยี เลขาธิการอังค์ถัดกล่าวเตือนว่าเส้นทางที่ไม่แน่นอนของการระบาดใหญ่จะยังคงไม่ดีขึ้นสำหรับโอกาสทางการค้าในเดือนต่อๆ ไป ทั้งนี้ จากข้อมูลของอังค์ถัดระบุว่า การค้าโลกที่ลดลง 5% ในไตรมาสที่สามของปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งลดลง 19% ในไตรมาสที่สองแล้วถือว่ามีพัฒนาการที่ดี แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้การค้าหลุดพ้นจากเส้นตายอยู่ดี มิหนำซ้ำ ความไม่แน่นอนของการระบาดใหญ่ยังคงทำลายโอกาสทางการค้าต่อไป
ต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นเพื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาโอกาสในการส่งออก แนวโน้มการเติบโตของการค้าโลกเป็นเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ รายงานเกี่ยวกับ COVID-19 และการค้าระหว่างประเทศโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้กล่าวว่าท่ามกลางวิกฤตสุขภาพโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การค้าเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้คนยังคงมีชีวิตอยู่และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้การค้าคล่องตัว และภาพรวมเศรษฐกิจของ OECD เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ได้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่สามารถฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ
การระบาดใหญ่ได้แผ่ขยายออกไปท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่ง ซึ่งทำให้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการค้าโลกมากขึ้น ตามที่ธนาคารกลางยุโรประบุไว้ใน Economic Bulletin ว่า การลงทุนและการค้าทั่วโลกที่ชะลอตัวได้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน อุปสงค์ของจีนที่ชะลอตัว ความตึงเครียดทางการเมือง (ภูมิศาสตร์) Brexit และความเครียดแปลกๆ ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่ง ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นนั้นยังส่งผลกระทบด้านลบเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนครั้งใหญ่นี้ สิ่งหนึ่งที่แน่นอนตามบทความที่ตีพิมพ์โดย World Economic Forum (WEF) ร่วมกับสถาบันนโยบาย Chatham House ก็คือนโยบายการค้าโลกจะไม่กลับไปสู่ฉันทามติที่มีเคยเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาอีกแล้ว ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศหลายคนกล่าวว่าตราบใดที่ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นยังคงมีอยู่ ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยอีก 2-3 ปี ซึ่งปัญหาทางการค้าจะยังคงมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้อังค์ถัดจะให้ข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง พบกับคำตอบได้ในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/01/building-a-new-consensus-on-trad.html
Related posts
Tags: Business, COVID-19, Economy, ISO, OECD, Standardization, Standards, Trade, UNCTAD, WEF, Y2K
ความเห็นล่าสุด