บทความ MASCIInnoversity เรื่อง ฝ่าเศรษฐกิจการค้าโลก ก้าวข้ามอุปสรรคด้วยมาตรฐานสากล ตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่เกิด Y2K bugก่อนจะก้าวเข้าสู่ปี 2543 (ค.ศ.2000) กับวิกฤตการณ์เงินของโลกเมื่อปี 2552 (ค.ศ.2009) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับยุคดิจิทัลในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 แล้ว ผลกระทบในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่นี้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงถึงขั้นที่ธนาคารโลกกล่าวว่าเศรษฐกิจโลกได้มุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD ระบุว่าในการที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้มากขึ้น สำหรับบทความในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) และกลยุทธ์ของไอเอสโอที่จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ ดังต่อไปนี้
วิกฤตด้านสุขภาพจากการระบาดใหญ่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือในระดับโลก แต่การสร้างฉันทามติใหม่ให้เกิดขึ้นจะไม่ง่ายนัก และในบริบทของการค้า มาตรฐานสากลยังคงมีบทบาทสำคัญซึ่งเบ็น เชพเพิร์ด หัวหน้าฝ่ายพัฒนาที่ปรึกษาการค้า และผู้เขียนบทความวิจัยในหัวข้อ “สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานและการค้า” ได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อหลายประเทศนำมาตรฐานสากลมาใช้ ผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์จากจากการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น
เชพเพิร์ดกล่าวว่า แม้ในขั้นต้นจะมีผลกระทบด้านต้นทุนเชิงลบของมาตรฐานซึ่งในตลาดมีการนำเข้าสินค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทต่างๆ และรัฐบาลมักจะแสดงความสามารถในการปรับตัวและความก้าวหน้าในสภาพแวดล้อมใหม่ให้เห็นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ มาตรฐานยังสามารถเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้นได้ด้วย เมื่อมาตรฐานตลาดนำเข้ามีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานไอเอสโอ หรือไออีซีแล้ว เขากล่าวว่าผลกระทบด้านลบต่อผู้ส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนาก็จะลดลงอย่างมาก หรือแม้แต่เกิดผลกระทบย้อนกลับซึ่งก็คือทำให้เกิดผลดีเป็นอย่างมาก
คณะกรรมาธิการยุโรปได้กล่าวไว้ว่า “มาตรฐาน” เป็นปัจจัยสำคัญของนโยบายการค้า มีส่วนช่วยในการขจัดอุปสรรคทางเทคนิค เพิ่มการเข้าถึงตลาดและการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การใช้มาตรฐานสามารถช่วยให้อุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงตลาดโลกได้ นอกจากนี้ มาตรฐานยังช่วยให้ผู้ผลิตลดต้นทุน คาดการณ์ข้อกำหนดทางเทคนิค และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและนวัตกรรมได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่โดยมีจำนวนผู้โดยสารต่ำที่สุดมาตลอด แต่เมื่ออุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว ก็มีแรงผลักดันอย่างมากในการทำให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคส่วนของระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft Systems: UAS) ดูเหมือนจะมีความพร้อมสำหรับการยกระดับที่ยอดเยี่ยมด้วยความช่วยเหลือของมาตรฐานต่างๆ เป็นอย่างมาก เช่น ISO 21384, Unmanned aircraft systems และ ISO 23629 series ซึ่งโรเบิร์ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Drone Major Group กล่าวว่าการเอาชนะปัญหาต่างๆ เช่น ความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ไม่สามารถทำได้เลยหากไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพที่แข็งแกร่งซึ่งทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัย
คิดนอกกรอบใหม่ รับเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์
บทความที่เผยแพร่โดย WEF เน้นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงการค้าระหว่างประเทศไปเป็นอย่างมาก และแสดงให้เห็นตัวอย่างว่าระบบอากาศยานไร้คนขับได้มีการนำไปใช้สำหรับการตรวจสอบใต้น้ำและการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า การเร่งความเร็วของกรอบความคิดที่พร้อมใช้เทคโนโลยีซึ่งหลุดออกมาท่ามกลางวิกฤตได้กลายเป็นโอกาสของการอำนวยความสะดวกทางการค้าแห่งศตวรรษไปแล้ว
เจสซี่ ลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงการด้านการค้าดิจิทัลของ WEF และคริสเตียน หลาน ผู้ร่วมก่อตั้ง ซีอีโอ และประธาน Tradeshift เครือข่าย B2B ดิจิทัลบนคลาวด์ ได้กล่าวไว้ในบล็อกเกี่ยวกับซัพพลายเชนทั่วโลกและ COVID-19 ว่า ปัจจุบัน วิกฤตที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นโอกาสในการรีเซ็ตระบบที่อาศัยกระบวนการที่ล้าสมัย และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ชาญฉลาดและฉับไวได้กลายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเครือข่ายการค้าและการลงทุนระดับโลกซึ่งทำให้สามารถฝ่าฟันพายุแห่งอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาในอนาคตได้
สิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นในขณะที่เกิดปัญหา COVID-19 คือ การขาดความสอดคล้องของกฎหมายทางเทคนิคซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรม ดังนั้น มาตรฐานสากลจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดอุปสรรคทางเทคนิค ซึ่งทุกประเทศก็ต้องพัฒนาตามจังหวะและมาตรฐานของตนเองเพื่อช่วยให้บรรลุผลการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่ดีขึ้นในการส่งเสริมการค้าโลกอันเกิดจากฉันทามติทั่วโลก และประเทศเหล่านั้นก็จะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์และบริการเข้ากันและเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมาตรฐานสากลจะไม่สามารถลดความไม่แน่นอนลงได้ แต่ก็มีสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นจากมาตรฐานสากลรวมทั้งการวางกลยุทธ์ของไอเอสโอ (ISO Strategy 2030) ซึ่งต้องมองในระดับมหภาคดังที่จะกล่าวถึงในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/01/building-a-new-consensus-on-trad.html
Related posts
Tags: Business, COVID-19, Economy, ISO, ISO 21384, ISO 23629, ISO Strategy 2030, Standardization, Standards, Supply Chain, Trade, UAS, UNCTAD, WEF, Y2K
Recent Comments