บทความ MASCIInnoversity เรื่อง ฝ่าเศรษฐกิจการค้าโลก ก้าวข้ามอุปสรรคด้วยมาตรฐานสากล ตอนที่ 1 และ ฝ่าเศรษฐกิจการค้าโลก ก้าวข้ามอุปสรรคด้วยมาตรฐานสากล ตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นหลังจากการระบาดใหญ่ COVID-19 กับความจำเป็นของการนำมาตรฐานสากลไปใช้ของอุตสาหกรรมทั่วโลกอันเนื่องมาจากการขาดความสอดคล้องของกฎหมายทางเทคนิค ทำให้ต้องใช้มาตรฐานสากลเพื่อลดอุปสรรคและสร้างโอกาสทางการค้า รวมทั้งเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ด้วย โดยไอเอสโอได้วางกลยุทธ์ 2030 เพื่อให้มาตรฐานสากลเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศไว้แล้ว สำหรับบทความในครั้งนี้จะกล่าวถึงกลยุทธ์ดังกล่าวดังต่อไปนี้
จะว่าไปแล้ว มาตรฐานสากลอาจจะไม่เกี่ยวข้องเท่าใดนักกับเรื่องของการลดความไม่แน่นอน หรือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่จำเป็นต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก แต่เมื่อพูดถึงการค้า ความเร็วหรือเวลาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังมุ่งสู่ตลาดโลก เมื่อสินค้าและปัจจัยการผลิตมีความอ่อนไหวต่อเวลาในแง่ของความเร็ว มาตรฐานสากลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายสินค้าจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งจึงช่วยขจัดความล่าช้าที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายและลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ ISO 2030 ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานสากลเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและการค้าที่กำลังเพิ่มขึ้นได้
เมื่อมองอีกด้านหนึ่งของความไม่แน่นอน มันคือโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายเป็นอย่างมาก องค์กรและธุรกิจที่คล่องตัวและพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงจะประสบความสำเร็จมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมาย ตามที่เอ็ดดี้ เอ็นโจโรเก้ อดีตประธานไอเอสโอได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่าไม่เคยมีช่วงเวลาใดไหนที่สำคัญมากสำหรับมาตรฐานระหว่างประเทศเท่าตอนนี้ซึ่งมาตรฐานต้องนำโดยตลาดและอิงตามฉันทามติ เพื่อสนับสนุนความท้าทายระดับโลกที่ต้องเผชิญกับระบบการค้าพหุภาคี ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกบางประการที่หล่อหลอมเศรษฐกิจของเราขึ้นมา ได้แก่ ความคาดหวังของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และความเร่งด่วนเพื่อก้าวสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของยุทธศาสตร์ ISO 2030 ใหม่ของไอเอสโอ อย่างไรก็ตาม เราสามารถเน้นเรื่องความท้าทายหลายประการเหล่านี้ในระดับโลกและระดับประเทศด้วยมาตรฐานที่เหมาะสมได้
พันธกิจของไอเอสโอระบุว่า “ไอเอสโอนำผู้คนมารวมกันเพื่อยอมรับมาตรฐานสากลที่ตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกผ่านสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไอเอสโอ มาตรฐานไอเอสโอทำการสนับสนุนการค้าโลก ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกัน พัฒนานวัตกรรมขั้นสูง และส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยเพื่อบรรลุอนาคตที่ยั่งยืน”
ISO Strategy to 2030 ยังสอดคล้องกับวาระ 2030 ขององค์การสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรับรองการค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและลดความยากจน อันเป็นวิธีที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วย
ส่วนดร.มูคิซา คิตูยี เลขาธิการอังค์ถัด ได้กล่าวไว้ว่า “การบรรลุปฏิสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ระหว่างการค้าและการลงทุนช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ สร้างงาน และพัฒนาทักษะเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรงในหัวข้อ SDG8 (การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่มีคุณค่า) SDG9 (การส่งเสริมอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน) และ SDG10 (การลดความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำ)
เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไอเอสโอมีมาตรฐานหลายฉบับที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือได้ เช่น ความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน (ISO 28000, Specification for security management systems for the supply chain) การจัดการความเสี่ยง (ISO 31000, Risk management – Guidelines) และการจัดการสินทรัพย์ (ISO 55001, Asset management – Management systems – Requirements) เป็นต้น
ไอเอสโอได้ดำเนินการตามขั้นตอนสำคัญในการช่วยลดความยากจนและทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และดีขึ้น และถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการและความเกี่ยวข้องของมาตรฐานสากล แต่ด้วยกลยุทธ์ 2030 ของไอเอสโอ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินตามยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานของไอเอสโอจะสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผลและช่วยให้ธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วโลกสามารถยกระดับการค้าระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/01/building-a-new-consensus-on-trad.html
Related posts
Tags: Business, Economy, Global challenges, ISO, ISO 28000, ISO 31000, ISO 55001, ISO Strategy 2030, SDG10, SDG8, SDG9, Standardization, Standards, Trade
Recent Comments