จากการประชุม COP 26 ซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ทั่วโลกให้ความสนใจและยินดีที่ประเทศจีนหันมาให้ความสนใจและให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็ได้มีท่าทีแสดงออกถึงการสนับสนุนข้อตกลงปารีสพร้อมกับประกาศการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายด้านสภาพอากาศ และแสดงการสนับสนุนของจีนต่อความตกลงปารีสอย่างแข็งขัน พร้อมกับประกาศการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของจีนเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตัวอย่างเช่น โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการเงินสีเขียว แผนปฏิบัติการเพื่อความเป็นกลางของคาร์บอน เป็นต้น ภายใต้กรอบนโยบาย 1+N ซึ่งหมายถึงแนวทางระยะยาวในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการนำแผนการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้อย่างจริงจังในภาคส่วนที่สำคัญ เช่น พลังงาน การก่อสร้าง และการขนส่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังได้ให้การสนับสนุนการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านปฏิญญาลอนดอนด้วย โดยสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศจีน คือ SAC (Standard Administration of the People’s Republic of China) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกำหนดให้มาตรฐานสากลเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางในการมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนใหญ่ ประเทศต่างๆ ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาความท้าทายในการมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งรวมถึงการรักษาจังหวะของการพัฒนาเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กระจายออกไปอย่างสมดุลและเพียงพอสำหรับประชากรราว 1.4 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน
การรักษาสมดุลในการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข แต่หัวใจสำคัญคือหากไม่สามารถการดำเนินการเปลี่ยนแปลงได้ก็จะส่งผลกระทบร้ายแรงที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การดำเนินการด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต การผลิตทางการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร และการดำรงชีวิตของเรา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของประเทศจีนรวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และยังได้นำภัยคุกคามที่ร้ายแรงมาสู่อาหาร น้ำ นิเวศวิทยา พลังงาน รวมทั้งความมั่นคง ความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชนด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศจีนจึงได้ดำเนินมาตรการด้านสภาพอากาศอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นอิสระมาอย่างยาวนาน และพร้อมๆ กับการเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการริเริ่มระดับโลก เช่น ภายใต้ข้อตกลงปารีส ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้ประกาศเมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) ว่าจีนจะบรรลุคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2603 (ค.ศ.2060) โดยผ่านจุดสูงสุดของการปล่อยมลพิษในปี 2573 (ค.ศ.2030) และในฐานะที่ประเทศจีนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรายใหญ่ ประเทศจีนจะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเหล่านี้และติดตามเป้าหมายปี 2603
ในฐานะที่เป็นผู้ลงนามในปฏิญญาลอนดอน ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญที่ต้องบรรลุให้ได้ในการประชุมสมัชชาใหญ่ ISO ประจำปี 2564 ประเทศจีนได้วางมาตรฐานไว้เป็นจุดศูนย์กลางของความพยายามนั้น และพัฒนาแนวทางที่สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาการปล่อยมลพิษ การปรับปรุงประสิทธิภาพ และการวัดความก้าวหน้าสำหรับประเทศจีนซึ่งมีความกว้างใหญ่ไพศาลและมีความหลากหลายของผู้คน
เทียน ฉีหง ผู้บริหารของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศจีน หรือ SAC (Standard Administration of the People’s Republic of China) ได้เน้นย้ำว่าปฏิญญาที่ประเทศจีนได้ร่วมลงนามนั้น เป็นวิธีที่สำคัญในการเปลี่ยนจากความตั้งใจไปเป็นการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง และ SAC ก็มียินดีที่จะทำงานร่วมกับสมาชิกของไอเอสโอในการพัฒนามาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามปฏิญญาลอนดอนอย่างมีประสิทธิผล และบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสและ SDGs ขององค์การสหประชาชาติต่อไป
ประเทศจีนได้ร่วมกับประชาคมโลกในการนำมาตรฐานสากลไปใช้อย่างจริงจังเพื่อก้าวข้ามความท้าทายดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งโลกของเรายังต้องใช้ความมุ่งมั่นและความพยายามเป็นอย่างมากในการร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ให้ได้
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาชิกไอเอสโอและองค์กรอื่นๆ ที่สนับสนุนปฏิญญาลอนดอนรวมทั้งแนวทางที่โลกจะบรรลุถึงความยั่งยืนได้ในเว็บไซต์ของไอเอสโอ The London Declaration
ที่มา: 1. https://www.prachachat.net/world-news/news-795023
2. https://www.iso.org/news/ref2781.html
Related posts
Tags: Carbon Net-Zero, china, Climate Change, COP 26, ISO, London Declaration, SAC, Standardization, Standards
ความเห็นล่าสุด