โลกของเราได้มีโอกาสรู้จักนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีความสามารถสูงและมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก และกว่าจะได้รับการยอมรับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับเพศชาย สตรีเหล่านั้นได้ใช้ความอดทนและระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เช่น มารี คิวรี นักเคมีชาวโปแลนด์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2446 (ค.ศ.1903) และสาขาเคมี เมื่อปี 2454 (ค.ศ.1911) ผู้ค้นพบรังสีเรเดียมที่ใช้ยับยั้งการขยายตัวของโรคร้ายที่รักษาได้ยากอย่างมะเร็ง และผู้สร้างความก้าวหน้าทางเคมีโดยการค้นพบธาตุโพโลเนียมและเรเดียม การแยกธาตุเรเดียมและศึกษาวิจัยองค์ประกอบและธรรมชาติของเรเดียม เธอเป็นสตรีคนเดียวของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองสาขา ส่วนบาร์บารา แม็กคลินท็อก นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและนักพันธุศาสตร์เซลล์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์เมื่อปี 2526 (ค.ศ.1983) เธอเป็นผู้ไขความลับของการถ่ายทอดพันธุกรรมระดับเซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นพบ “ยีนกระโดด” (Jumping Genes) และในช่วงเวลา 100 กว่าปีที่ผ่านมานั้นมีนักวิทยาศาสตร์หญิงรับรางวัลโนเบลมาแล้ว 59 คน
ผู้หญิงไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการกำหนดความเป็นไปในโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้อีกด้วย วันสากลเพื่อสตรีและเด็กหญิงในงานวิทยาศาสตร์ช่วยทำให้โลกระลึกว่าสตรีและเด็กหญิงมีบทบาทสำคัญในชุมชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพวกเธอให้มีความเข้มแข็ง
ในวันสากลเพื่อสตรีและเด็กหญิงในงานวิทยาศาสตร์ปี 2565 ได้มีการรณรรงค์หัวข้อ Equity, Diversity, and Inclusion: Water Unites Us วันดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับความจำเป็นของสตรีในด้านวิทยาศาสตร์และความเท่าเทียมทางเพศเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 6 (SDG6) เรื่องน้ำสะอาดและการสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) ความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งสำคัญระดับโลกสำหรับวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสนับสนุนจากเด็กผู้หญิงและการศึกษาของเด็กผู้หญิง และความสามารถที่เต็มเปี่ยมของพวกเธอในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนา
ดร.เวโรนิกา มุซควิซ เอ็ดเวิร์ดส์เห็นคุณค่าและความสำคัญของการศึกษาเป็นหลักและนำไปใช้เป็นแนวทางในเส้นทางอาชีพของตนเอง ปัจจุบัน ดร.เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นประธานและซีอีโอขององค์กรที่มีชื่อว่า Healthcare Standards Institute ซึ่งได้พัฒนามาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (ANSI) ซึ่งทุ่มเทการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของปัจเจกชน ในขณะเดียวกันก็พัฒนาความเสมอภาค ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลขององค์กรด้านการดูแลสุขภาพผ่านการพัฒนามาตรฐานด้วย
เธอกล่าวว่าในความเป็นมนุษยชาติที่เรามีร่วมกัน เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจและรู้สึกถึงสิ่งดีๆ ที่ทำให้เรามีความแตกต่างกันในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของเพศสภาพ ซึ่งผู้หญิงได้นำมุมมองที่ทรงพลัง มีเอกลักษณ์ และความสามารถในการมองแบบองค์รวมมาสู่วิทยาศาสตร์โดยมีศักยภาพที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะที่ถูกมองข้ามไปหรือไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน
ปัจจุบัน ดร.เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นประธานคณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 304, Healthcare organization management (ซึ่ง 32 ประเทศได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวิชาการและร่วมสังเกตการณ์ด้วย) เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานระดับโลกสำหรับการบริหารงานด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงหัวข้อที่สำคัญ เช่น สุขภาพทางไกล การตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ และการจัดการคุณภาพด้านการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
ท่ามกลางแรงผลักดันจากทั่วโลกเพื่อให้สตรีและเด็กผู้หญิงสนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์มากขึ้น ดร.เอ็ดเวิร์ดส์เน้นย้ำถึงความต้องการสตรีในการเข้าร่วมพัฒนามาตรฐานให้มากขึ้น การเพิ่มผู้นำทางความคิดของสตรีจะทำให้เกิดมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ทุกปี มีสตรีที่มีแนวคิดนวัตกรรมจำนวนมากจบการศึกษาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และมีเส้นทางสู่อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องการได้รับคำปรึกษาแนะนำอย่างมืออาชีพด้วย
ไอเอสโอมีแผนปฏิบัติการเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูล การสร้างเครือข่ายเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรฐานเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและการให้พลังอำนาจแก่สตรี ซึ่งดร.เอ็ดเวิร์ดส์เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญหลายพันคนที่มีส่วนร่วมในการสนทนาระดับโลกเกี่ยวกับมาตรฐานไอเอสโอในขณะที่ยังคงทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในสาขานี้ เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลกที่ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนพร้อมกับแสดงออกถึงอนาคตของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงต่อไป
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/02/celebrating-women-and-girls-in-s.html
Related posts
Tags: ANSI, Clean water and sanitation, Gender Equality, Healthcare, Humanity, ISO, Nobel prizes, Sciences, SDG6, Standardization, Standards, Sustainability, women
Recent Comments