ในขณะที่สังคมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา “มาตรฐาน” จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถก้าวทันโลกได้เช่นเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทั่วโลก และสนับสนุนอนาคตที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
แม้ว่าวิวัฒนาการของโลกจะมีอัตราการเติบโตไม่เร็วเท่าที่เราคิด แต่เราก็อยู่ในสถานที่ที่ดูแตกต่างไปจากเมื่อสองสามปีก่อน ประชากรบนโลกของเรามีจำนวนมากขึ้น มีความเป็นสากลมากขึ้น และมีการตัดสินใจซื้อที่ซับซ้อนมากขึ้น คนเราคาดหวังว่าจะมีธุรกิจที่ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบ มีผู้นำที่ซื่อสัตย์ และทำให้โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ คนเรายังต้องการควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องทำให้ความเป็นส่วนตัวของตนเองหายไป ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2562 (ค.ศ.2019) ระบุว่าภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) คาดว่าจำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าคือราว 1.5 พันล้านคนและเพิ่มขึ้นเป็น 16% ของประชากร ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของคนในสังคมรวมทั้งเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และทำให้อัตรากำลังคนทำงานเสียสมดุลไป เช่น ผู้ใหญ่ที่สูงวัยขึ้นจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรในขณะที่ต้องรักษาสมดุลของอายุเกษียณกับคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่แต่มีความสำคัญมาก ประชากรสูงอายุเป็นประเด็นปัญหาที่พบมากขึ้นสำหรับรัฐบาลและผู้ให้บริการชุมชนหลายแห่ง เนื่องจากมีต้องการในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น การดูแลสุขภาพ ประกันสังคม การเข้าถึงและความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ก็ตระหนักดีว่าวันหนึ่งพวกเขาจะต้องแบกรับภาระเหล่านี้เอาไว้ และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลทั่วโลกจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนและนำสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าโดยทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับประโยชน์ให้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กับสร้างความยั่งยืน
ชีวิตในเมืองใหญ่
ในขณะเดียวกัน ผลวิจัยของบริษัท ดีลอยด์ฯ เมื่อปี 2564 (ค.ศ.2021) พบว่าประชากรส่วนใหญ่บนโลกนี้ก็ค่อยๆ ขยับขยายเข้าไปอาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆ มากขึ้น จำนวนประชากรเมืองได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 751 ล้านคนเมื่อปี 2493 (ค.ศ.1950) เป็น 4.2 พันล้านเมื่อปี 2561 (ค.ศ.2018) และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 6.7 พันล้านคนในปี 2593 (ค.ศ.2050) การตอบสนองความต้องการของเมืองในขณะนี้และการคาดการณ์ถึงอนาคตยังคงเป็นความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นอย่างดีเพื่อส่งมอบทรัพยากรและบริการที่จำเป็นสำหรับประชากรของตนเองเพื่อความอยู่รอดและความเจริญก้าวหน้า การขนส่งสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวก น้ำประปา สุขาภิบาล พลังงาน อาหาร และความปลอดภัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงกดดันที่จะยังคงได้รับความท้าทายจากการขยายตัวของเมือง
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องมาจากตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะซื้อและวิธีการซื้อ ห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อได้ก่อให้เกิดความกังวลของผู้บริโภคว่าเงินที่พวกเขาจับจ่ายไปจะไปถึงมือใคร และสิ่งที่พวกเขาจะได้รับกลับมาจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งใส การตรวจสอบย้อนกลับได้ การบริการเฉพาะบุคคล และประสบการณ์ที่เชื่อมถึงกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคาดหวัง และผู้บริโภคก็มักจะเปลี่ยนยี่ห้อที่ซื้ออยู่เสมอเพื่อค้นหาข้อตกลงที่ดีกว่าหรือเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเองมากขึ้น ผู้บริโภคเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดผลกระทบอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของเรา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซาดี เดนตัน ประธานคณะกรรมการไอเอสโอว่าด้วยนโยบายผู้บริโภค (COPOLCO) ได้กล่าวว่าผู้บริโภคตระหนักมากขึ้นว่าการตัดสินใจซื้อและรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนมีผลกระทบทั่วโลกร่วมกัน และได้เร่งให้เกิดความต้องการในการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคได้หลายอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ มาตรฐานจึงได้เข้าไปมีบทบาทสนับสนุนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การเกิดขึ้นอย่างมากมายของการใช้โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มการแชร์ และบทวิจารณ์ออนไลน์ได้เอื้อต่อการเกิดขึ้นของเทรนด์นี้ และยังช่วยสร้างแนวคิดใหม่ๆ สำหรับข้อเสนอมาตรฐานควบคู่ไปกับการส่งเสริมผู้บริโภคที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีความต้องการที่จะรู้ว่าลูกค้ายังคงเป็นลูกค้าอยู่เหมือนที่เคยเป็นมาหรือไม่ อย่างไร และเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มาตรฐานต้องก้าวล้ำนำหน้าอยู่เสมอ
ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานเป็นจำนวนมากที่สะท้อนถึงความก้าวล้ำนำสมัยดังกล่าว โปรดติดตามรายละเอียดในบทความครั้งต่อไปค่ะ
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/02/societal-changes-shaping-our-fut.html
Related posts
Tags: aging society, Business, consumer, COPOLCO, Deloitte, ISO, Society, Standardization, Standards, UN, World Population
Recent Comments