บทความ เรื่อง “บริหารอนาคตด้วยมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน ตอนที่ 1” และ “บริหารอนาคตด้วยมาตรฐานสากลเพื่อความยั่งยืน ตอนที่ 2” ได้กล่าวถึงการปรับปรุงมาตรฐานสากลให้เข้ากับบริบทของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมโลก เช่น มาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจแบ่งปัน มาตรฐานสำหรับการตรวจสอบออนไลน์ การติดฉลากและการกล่าวอ้างต่างๆ เป็นต้น และเพื่อเตรียมการสำหรับการทำงานในอนาคตให้ครอบคลุมความต้องการของสังคมโลก ไอเอสโอจึงดำเนินกลยุทธ์การทำงานที่เรียกว่า กลยุทธ์ ISO 2030 (ISO Strategy 2030)
สำหรับบทความในตอนนี้จะกล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานตามกลยุทธ์ดังกล่าว ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้บริโภคทั่วโลก และการตอบสนองต่อตลาดโลก ดังต่อไปนี้
การเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของสังคมย่อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อวิธีการทำงานของไอเอสโอในปัจจุบัน และวิธีการทำงานในอนาคตรวมไปถึงปี 2573 (ค.ศ.2030) เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรฐานจะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ดีที่สุด รวมถึงความต้องการ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของผู้ที่ได้รับผล กระทบจากมาตรฐาน และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนร่วมเหล่านั้น ไอเอสโอได้สร้างความร่วมมือเพิ่มขึ้นกับองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานด้านมาตรฐาน รวมทั้งคณะกรรมการว่าด้วยนโยบายผู้บริโภค (COPOLCO)
COPOLCO เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือที่ดีกับไอเอสโอ ดร.คริสตินา ดรากีซี เลขาธิการ COPOLCO กล่าวว่า การทำงานร่วมกันของ COPOLCO กับองค์กรอื่นทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความกระตือรือร้นในการทำงานร่วมกัน และขอบข่ายการทำงานก็กว้างขวางขึ้น รวมทั้งได้กระชับความสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ด้วย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมาตรฐานสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งทำให้แน่ใจว่ามีความสอดคล้องและมีส่วนร่วมใน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าความคาดหวังของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ได้ส่งผลต่อการทำงานของไอเอสโอในปัจจุบันด้วย
ทุกเสียงมีความหมาย
นอกจากนี้ ในกระบวนการมาตรฐาน ยังมีแรงผลักดันที่เพิ่มขึ้นสำหรับการรวมเอาทุกเสียงที่มีความหมายเข้าไปด้วย ตัวอย่างเช่น มีการพูดถึงผู้ใช้มาตรฐานมากกว่าที่เคยเป็นมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม และสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ISO 9001 เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากของไอเอสโอสำหรับระบบการจัดการคุณภาพ และเป็นหนึ่งในมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก
ในการทบทวนมาตรฐานภายในระยะเวลา 5 ปี คณะกรรมการด้านเทคนิคที่ดูแลรับผิดชอบมาตรฐาน ISO 9001 ได้ตัดสินใจที่จะมองข้ามกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตามปกติ เพื่อดูว่าสิ่งใดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้ปัจจุบันและผู้ใช้ที่มีแนวโน้มจะใช้งานในอนาคต ในการทำเช่นนี้ พวกเขาได้เปิดตัวแบบสำรวจออนไลน์ระหว่างประเทศ 14 ภาษา ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนในปี 2563 (ค.ศ.2020) ผลลัพธ์ก็คือไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขใดๆ เพราะ ISO 9001 ฉบับล่าสุด (version ปี 2015) ยังคงให้คุณค่าแก่ผู้ที่นำมาตรฐานไปใช้งานได้เป็นอย่างดี
การส่งเสริมความคิดที่หลากหลายยิ่งขึ้นบ่งบอกให้เห็นถึงความจำเป็นในการรับฟังเสียงสะท้อนของคนทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ และทุกความเชื่อทางศาสนา ตัวอย่างเช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคม และได้รับการกำหนดให้เป็นวัตถุประสงค์ในองค์กรและการริเริ่มต่างๆ มากมาย ไม่น้อยไปกว่า SDG5 ขององค์การสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจของสตรีและเด็กผู้หญิงทุกคน
ด้วยการตระหนักถึงการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพของมาตรฐานสากลในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ไอเอสโอจึงได้เริ่มโครงการที่มีความมุ่งมั่นเพื่อประเมินและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนเรื่องเพศในไอเอสโออย่างลึกซึ้ง ตลอดจนคุณค่าและความหมายของความเท่าเทียมกันทางเพศในมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมของไอเอสโอมีมุมมองที่เข้มแข็งในเรื่องของการเป็นตัวแทนของทุกเพศ
มาตรฐานสากลตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
แม้ว่ากุญแจสำคัญของมาตรฐานจะเป็นเรื่องของเนื้อหาและการมีส่วนร่วม แต่เรื่องของความเร็วก็มีความจำเป็นเช่นกัน ในขณะที่โลกมีวิวัฒนาการ การพัฒนามาตรฐานจำเป็นต้องก้าวตามให้ทัน งานพัฒนามาตรฐานจึงต้องมีการปรับปรุงและเร่งรัดกระบวนการทั้งหมด รวมถึงการใช้โอกาสในการพัฒนามาตรฐานทางออนไลน์ทั้งหมดด้วย หมายความว่ากระบวนการพัฒนามาตรฐานเสมือนแบบใหม่จะไม่มีการประชุมทางกายภาพตามปกติหรือมีโครงสร้างคณะกรรมการไอเอสโอแบบดั้งเดิม แต่จะมีศักยภาพในเรื่องของความเร็วและความคุ้มค่ามากขึ้นโดยไม่ลดทอนคุณภาพการทำงานลงไปเลย
เรื่องนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อ COVID-19 ทำให้การเดินทางหยุดชะงักในเดือนมีนาคม 2563 (ค.ศ.2020) ทำให้ไอเอสโอไม่สามารถจัดการประชุมคณะกรรมการแบบตัวต่อตัวได้อีกต่อไป และทำให้โลกของมาตรฐานกลายเป็นการทำงานออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบในชั่วข้ามคืน การประชุมทางกายภาพมากกว่า 2,000 รายการที่วางแผนไว้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนสิงหาคม 2563 ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปเป็นระบบเสมือนจริง และยอมรับกันว่าแนวทางการทำงานแบบใหม่นี้อาจมีความจำเป็นต่อไปในอนาคตด้วย ไอเอสโอได้กำหนดเครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยให้คณะกรรมการด้านเทคนิคสามารถวางแผนการประชุมเสมือนจริงของตนเองได้โดยง่าย โดยคำนึงถึงความแตกต่างกันของเวลาและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นจากการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น รวมทั้งความคล่องตัวในการตอบสนองต่อความต้องการอย่างเร่งด่วนที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่กลยุทธ์ไอเอสโอ 2030 (ISO Strategy 2030) เอกสารนี้มีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ โดยอาศัยข้อมูลจากบุคลากรที่ทำหน้าที่ในไอเอสโอ สมาชิก ผู้ใช้มาตรฐานจากทั่วโลก แต่ยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่ไอเอสโอต้องทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุความต้องการของคนทั่วโลกและเป้าหมายของไอเอสโอต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้าได้ในเว็บไซต์ของไอเอสโอ https://www.iso.org/home.html
ที่มา: https://www.iso.org/contents/news/2022/02/societal-changes-shaping-our-fut.html
Related posts
Tags: COPOLCO, COVID-19, Geographical locations, ISO, ISO Strategy 2030, SDG, sharing economy, Standardization, Standards, Sustainability, Time zones, UNCTAD, Virtual meetings
ความเห็นล่าสุด